เกาะติดงบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท เผย 3 รูปแบบโครงการต้องห้าม

เกาะติดงบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท เผย 3 รูปแบบโครงการต้องห้าม

สศช.เผย 3 รูปแบบโครงการต้องห้ามใน พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้าน เผยโครงการที่ผู้รับเหมาได้ประโยชน์ ไม่ผ่านพิจารณา

การกลั่นกรองโครงการที่มีการเสนอเข้ามาขอใช้งบจากเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในส่วนของกรอบวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ มีการเปิดให้หน่วยงานราชการและท้องถิ่น เสนอโครงการเข้ามาสู่การพิจารณาโครงการตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย.2563 ถึงปัจจุบันมีโครงการที่เสนอเข้ามาถึง 46,411 โครงการรวมวงเงินที่เสนอเข้ามามากกว่า 1.44 ล้านล้านบาท ถือว่าสูงกว่าวงเงินที่มีอยู่หลายเท่าตัว

อย่างไรก็ตามในการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการฯพบว่ามีโครงการจำนวนมากที่ตกไปไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งแม้จะเป็นโครงการที่มีความพยายามในการเสนอเข้ามาแต่ก็จะไม่ได้รับการอนุมัติหรืออีกนัยเป็นโครงการที่ห้ามเสนอขอใช้เงินจาก พ.ร.ก.ส่วนนี้และขอมาอย่างไรก็จะไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ 

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน/โครงการกรอบวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาท กล่าวว่า ในการพิจารณาโครงการของบฟื้นฟูนั้น คณะอนุกรรมการที่ประกอบไปด้วยหน่วยงานที่่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ได้ช่วยกันพิจารณาโครงการ

การพิจารณาได้ช่วยกันดูโครงการที่มีการเสนอเข้าตั้งแต่เช้ายันเย็นยันดึกทุกคืนไล่ดูกันดูจนมั่นใจว่าได้โครงการที่ตอบโจทย์ในเรื่องการสร้างงาน สร้างอาชีพ ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับการฟื้นฟู ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้นนอกจากนี้เมื่อมีการดำเนินโครงการไปแล้วหน่วยงานจะต้องมีการติดตามประเมินผลโครงการเป็นระยะ

159412187335

ส่วนโครงการที่ไม่ผ่านการพิจารณาจะมีลักษณะ ได้แก่

1.โครงการที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ หรือก่อให้เกิดการจ้างงานหรือสร้างอาชีพในพื้นที่ซึ่งมีการเสนอโครงการเข้ามาให้พิจารณา

2.โครงการที่ใช้งบประมาณลงไปกับที่ปรึกษโครงการหรือผู้รับเหมา มากกว่าที่จะเกิดประโยชน์กับคนในชุมชน

3.ลักษณะโครงการที่เป็นการจัดงานอีเว้นท์ หรือโครงการอบรมสัมนาแบบระยะสั้น ที่ไม่ได้สร้างประโยชน์เกี่ยวกับการเรียนรู้และสร้างทักษะอาชีพใหม่เหมือนกับที่เคยมีการทำมาก่อนหน้านี้ ก็จะไม่อนุมัติโครงการ

นายดนุชา กล่าวว่า ในส่วนของโครงการที่มีการเสนอเข้ามาแล้วมีการพิจารณาอนุมัติให้ก่อนหน้านี้ก็คือโครงการที่มีลักษณะของการไปปรับเปลี่ยนการปลูกพืชของเกษตรกรในพื้นที่เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น เช่น เปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยว เช่น มีการปลูกยางอยู่ก็มีการลดพื้นที่ปลูกยางลงและปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน 

ส่วนโครงการที่เกี่ยวกับการก่อสร้างต้องมาดูว่าตอบโจทย์เรื่องความเข้มแข็งหรือไม่ สามารถที่จะสร้างงาน สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายใน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องเสริมเข้ามาในภายหลังยังไม่ได้มีการนำเสนอ ครม.ในระยะแรก 

ส่วนแนวคิดที่มีการเสนอให้มีการเยียวยาเกษตรกรที่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 33 ก็ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีกี่รายแล้วอยู่ในบัญชีเกษตรกรหรือไม่ ต้องมีหลักฐานที่เพียงพอเพราะหลักการในการเยียวยาจะต้องให้เกษตรกรที่เป็นเกษตรกรตัวจริงเท่านั้น 

"ต้องเรียนตามตรงว่าบางทีชื่อโครงการที่เสนอเข้ามาดูดี แต่เมื่อไปดูรายละเอียดไม่สามารถที่จะอนุมัติให้ได้ การคัดกรองโครงการเราไม่ได้มีการจัดโควต้าให้กับหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดโดยเฉพาะ เป็นการพิจารณาตามความเหมาะสม หรือจัดสรรวงเงินให้กับกระทรวงไหน หน่วยงานใดโดยเฉพาะ" นายดนุชา กล่าว

ส่วนที่หน่วยงานต่างๆจะมีการแถลงข่าว หรือให้ข่าวไปก่อนหน้านี้ว่าจะได้เงินเท่านั้นเท่านี้ ตรงนั้นเป็นส่วนของหน่วยงานที่สามารถที่จะให้ข่าวได้ แต่คณะกรรมการคัดกรองโครงการก็มีหลักในการตัดสินใจและอนุมัติโครงการต่างๆตามหลักเกณฑ์และวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

สศช.ยังคงเปิดรับโครงการที่ต้องการใช้งบประมาณฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการพิจารณาเห็นชอบโครงการล็อตแรกในวันนี้ (8 ก.ค.)