'โควิด-19' โรคร้ายหรือข้ออ้าง เปิดทางรัฐบาลรวบอำนาจ

'โควิด-19' โรคร้ายหรือข้ออ้าง เปิดทางรัฐบาลรวบอำนาจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การรับมือโรคระบาดร้ายแรงอย่าง "โควิด-19" จำเป็นต้องใช้การจัดการอย่างเด็ดขาดรวดเร็ว แต่การจัดการโรคถูกรัฐบาลบางประเทศบิดเบือนเป็นการ "จัดการคนเห็นต่าง"

ผู้นำภาคการเมือง ประชาสังคม เจ้าของรางวัลโนเบล และนักสิทธิมนุษยชนกว่า 500 คน ร่วมกันส่งเสียงเตือน บางรัฐบาลใช้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา “รวบอำนาจ” ทำลายประชาธิปไตยและเสรีภาพพลเรือน ที่น่ากังวลมากคือพลเมืองเริ่มยอมรับพฤติกรรมอำนาจนิยมมากขึ้น

ไวรัสตัวนี้ที่พบครั้งแรกเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาในเมืองอู่ฮั่น ทางภาคกลางของประเทศจีน  จากนั้นแพร่กระจายไปทั่วโลก กระตุ้นให้ประเทศในยุโรป เอเชีย อเมริกาและแอฟริกาต้องใช้มาตรการจำกัดการเดินทาง จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การรวมตัวกันในที่สาธารณะ และสิทธิพลเรือนอื่นๆ 

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อความช่วยเหลือด้านประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง (ไอดีอีเอ) ในกรุงสต็อกโฮล์มของสวีเดน ทำจดหมายเปิดผนึกปลุกจิตสำนึกและระดมพลังพลเมือง มีเหล่าคนดังเข้าร่วมลงนามมากมาย อาทิ เมเดอลีน อัลไบรท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ริชาร์ด เกียร์ พระเอกดังฮอลีวู้ด ชิริน เอบาดี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพชาวอิหร่าน เลค วาเรซา อดีตประธานาธิบดีโปแลนด์ โฮเซ  รามอส ฮอร์ตา อดีตประธานาธิบดีติมอร์ เลสเต เฟอร์นันโด เฮนริก คาร์โดโซ อดีตประธานาธิบดีบราซิล และเจบ บุช อดีตผู้ว่าการรัฐฟลอริดา รวมถึงคนอื่นๆ เรียกการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในขณะนี้ว่า “ความท้าทายระดับโลกอันน่าหวาดหวั่นต่อประชาธิปไตย”

เนื้อความในจดหมายระบุ "ไม่แปลกใจเลยที่รัฐบาลอำนาจนิยมใช้วิกฤตินี้ปิดปากนักวิจารณ์ แล้วรวบอำนาจทางการเมืองของตน แม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก็ใช้อำนาจฉุกเฉินอย่างมหาศาลต่อสู้การแพร่ระบาด ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิมนุษยชน เพิ่มการสอดแนมของรัฐโดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัดทางกฎหมายหรือการตรวจสอบของสภา

159313449626

ประชาธิปไตยกำลังถูกคุกคาม ผู้ที่ห่วงใยจะต้องรวบรวมเจตจำนงค์ วินัย และเป็นปึกแผ่นปกป้องประชาธิปไตย เดิมพันด้วยเสรีภาพ สุขภาพ และเกียรติภูมิของผู้คนในทุกหนทุกแห่ง"

เควิน คาซัส ซาโมรา อดีตรองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีคอสตาริกา เลขาธิการไอดีเอ กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า การระบาดไม่ได้แค่ส่งผลทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้าง แต่ยังเป็นไปได้มากว่าส่งผลลึกซึ้งทางการเมืองด้วย ตอนนี้อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบทั้งหมดที่มีต่อประชาธิปไตย แต่ก็เริ่มมีสัญญาณความน่ากังวลให้เห็นแล้ว 

เขายกตัวอย่างประเทศฮังการีที่โดยปกติแล้วรัฐบาลใช้อำนาจฉุกเฉินได้อย่างไม่มีกำหนด อย่างไรก็ตาม สภาลงมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ยกเลิกอำนาจฉุกเฉินของรัฐบาลมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. ขณะที่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ขยายภาวะฉุกเฉิน หรือการที่เอลซัลวาดอร์จับกุมคุมขังประชาชนหลายพันคนที่ฝ่าฝืนคำสั่งกักตัว ล้วนเป็นเหตุให้ต้องกังวล

คาซัส ซาโมรา ตั้งข้อสังเกตว่า อำนาจประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นหนึ่งในเครื่องมืออันชอบธรรมของรัฐบาลประชาธิปไตย เพื่อรับมือกับสถานการณ์พิเศษ แต่การใช้อำนาจเหล่านั้นต้องได้สัดส่วนกับสภาพการณ์

การสร้างสมดุลระหว่างมาตรการอันเข้มงวดอย่างการล็อกดาวน์พร้อมๆ กับการปกป้องเสรีภาพไปด้วย ยังเป็นเรื่องยากจะวัดได้อย่างแท้จริงว่า ยุทธศาสตร์ใดได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือต้องไม่ยึดติดว่ารัฐบาลทำนโยบายถูกต้องหรือไม่ แต่ต้องถามว่าสามารถปรับนโยบายนั้นได้หรือไม่

159313449324

"ถ้าคุณสามารถทดลอง แก้ไข และปรับนโยบายสาธารณะได้ ก็มีโอกาสค้นพบสมดุลอันถูกต้องได้มากกว่า" เลขาธิการไอดีดีเอให้ความเห็น พร้อมชี้ว่า เรื่องที่น่ากังวลอีกประการหนึ่งไม่ใช่แค่รัฐบาลบางประเทศใช้นโยบายเลยเถิด แต่ประชาชนก็ "ไม่มีปากเสียง" กับนโยบายเกินเลยเหล่านั้นเพราะมัวแต่กลัวเชื้อโรค

“พลเมืองผู้ตื่นกลัวยอมทนจนกลายเป็นยอมรับการถูกจำกัดสิทธิพื้นฐานของตนได้” เลขาธิการไอดีเอ กล่าว 

ไอดีอีเอเผยด้วยว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาทำให้ต้องเลื่อนหรือยกเลิกการเลือกตั้ง 66 รายการทั่วโลก 1 ใน 3 เป็นการเลือกตั้งระดับชาติ เกือบ 50 ประเทศจำกัดเสรีภาพสื่อในรูปแบบต่างๆ ในจำนวนนี้เป็นประเทศประชาธิปไตย 21 ประเทศ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์กฎหมายไม่หวังผลกำไรระหว่างประเทศ ที่มีฐานปฏิบัติการในสหรัฐ เผยว่า กว่า 80 ประเทศออกมาตรการฉุกเฉินต่างๆ นานา ตั้งแต่เคอร์ฟิวไปจนถึงปรับคนที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการสอดแนมหรือตรวจสอบเป็นพิเศษของรัฐ และใช้อำนาจฝ่ายบริหารเกินขอบเขต

ข้อมูลการแพร่ระบาดจากมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์ ณ วันที่ 25 มิ.ย. ผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 9.4 ล้านคน เสียชีวิตอย่างน้อย 482,128 คน สหรัฐมีผู้ติดเชื้อกว่า 2.38 ล้านคน เสียชีวิตอย่างน้อย 121,969 คน