มอง 'FDI Trend' ใหม่ ผ่านเลนส์ COVID และ Trade War

มอง 'FDI Trend' ใหม่ ผ่านเลนส์ COVID และ Trade War

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของ Trade War และ COVID-19 ในช่วงนี้ จะกระทบอย่างไรกับประเทศกลุ่ม Home Country ประเทศผู้ส่งเงินลงทุนมาลงทุนในประเทศผู้รับการลงทุน เช่น ไทย และจะตัดสินใจลงทุนหรือเคลื่อนย้ายทุนครั้งใหญ่หรือไม่?

คำถามนึงที่ผมสังเกตว่ามีคนสนใจและพยายามพยากรณ์ ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปกับการลงทุนและการผลิตอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนระหว่างประเทศ หรือที่เรียกว่า Foreign Direct Investment (FDI) จากผลกระทบวิกฤติเรื่อง COVID-19 และ Trade War ที่ยังคงร้อนแรงและกำลังเข้าใน Wave ระยะที่ 2 อยู่ทั้งสองเรื่องในขณะนี้

ที่แน่นอนก็จะมากระทบถึงการคาดการณ์การลงทุนและการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ เพื่อกระตุ้นและเตรียมความพร้อมสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศของพื้นที่ EEC และของประเทศไทยในภาพรวมด้วยเช่นกัน

การลงทุนจากต่างประเทศในอดีตที่ผ่านมา เป็นเสมือนเครื่องมือในการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองข้าง ข้างหนึ่งคือ Host Country หรือประเทศผู้รับการลงทุน เช่น ประเทศไทย เวียดนาม หรืออื่นๆ ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ ต่างพึ่งพิงเงินลงทุน FDI อย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ Home Country หมายถึงประเทศผู้ส่งเงินลงทุนมาลงทุน ในอดีตอย่างที่เราทราบ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป และจีนที่กำลังมาแรง ประเทศเหล่านี้ได้ประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศ Host ในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงาน ตลาด วัตถุดิบ และในบางครั้งจากทรัพยากรทางด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของประเทศ Host Country

ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนและขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด ดังนั้นต้องยอมรับว่าทั้งคู่ต้องได้ประโยชน์จึงจะเกิดการเคลื่อนที่ของทุน ในการลงทุนแบบ FDI นี้

คำถามที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของ Trade War และ COVID-19 ในช่วงนี้ กระทบอย่างไรกับประเทศกลุ่ม Home Country ในการตัดสินใจลงทุนหรือเคลื่อนย้ายทุนครั้งใหญ่อีกครั้ง

อะไรในสมการผลประโยชน์กำลังเปลี่ยนไปหรือไม่ ทั้งสอง Crisis Factor กำลังจะเปลี่ยน Home Country ให้เตรียมลดการลงทุนออกนอกประเทศของตน กระตุ้นให้ผู้ประกอบการเก็บเงินเอาไว้ลงทุนในประเทศตัวเองแล้วดีกว่า หรือเริ่มรู้สึกว่าการรอพึ่งพา Supply Chain จากประเทศอื่นๆ มันมีความเสี่ยงมากมายขนาดนั้นแล้วหรือไม่ ทุกคนควรกลับมาวางแผนการผลิตทุกอย่างให้เบ็ดเสร็จในประเทศของตน ทั้งๆ ที่รู้ว่าต้นทุนการผลิตบางสินค้าของตนไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ หรือทรัพยากรของตนก็ไม่มีเพียงพอแล้วใช่หรือไม่?

วิกฤติครั้งนี้เป็นตัวกระตุ้นเตือนที่ดีให้ทุกคนเริ่มกลับมาคิดถึงคำตอบของคำถามเหล่านี้ กลับมาตั้งคำถามกับแนวคิดทฤษฎีทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ และอีกหลายๆ ทฤษฎีที่เคยเกิดขึ้นในโลกยุคก่อน New Normal ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาถึงวันนี้ เราเริ่มเห็น Crisis Choices หลายทางเลือกในเรื่องนี้จากหลายๆ ประเทศ และหลายๆ บริษัทข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็น

1.คำตอบแบบยูเทิร์นกลับ เอาสายการผลิตกลับคืนประเทศของตนทั้งหมด

2. หลายคนกำลังคิดกลยุทธ์ Diversification ต้องกระจายการลงทุนไป ในประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อลด Concentration Risk

3.หลายคนก็อาจใช้แนวคิดเพิ่ม Consolidation เพื่อให้เกิด Optimization ในฐานการผลิตที่ตนมีอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งที่มีเสถียรภาพให้มากที่สุดและเริ่มปิดสายการผลิตที่ประเทศอื่นๆ แทน

แล้วประเทศไทยและพื้นที่ EEC ของเราจะเข้าไปอยู่ในทางเลือกกลยุทธ์ของเขาอย่างไร ใน Option ไหนนั้น คงต้องดูกันต่อไป ส่วนแนวทางของภาครัฐของเราคงต้องพยายามเข้าใจว่าลักษณะของความต้องการของ Home Country หลังวิกฤติ ตามทางเลือกอย่างนี้ เขาอยากได้อะไรเพิ่ม อะไรที่เราสามารถให้ได้เพิ่ม อะไรที่เราจะสามารถตอบโจทย์เขาได้ ขออย่างเดียวอย่าให้พวกเขาไปเลือกใน Choice แรกและขนของกลับบ้านเก่าหมดเท่านั้น เป็นพอครับ