คิกออฟพัฒนา 'อู่ตะเภา' ดึงลงทุนอุตสาหกรรมการบิน

คิกออฟพัฒนา 'อู่ตะเภา'  ดึงลงทุนอุตสาหกรรมการบิน

อีอีซี เดินหน้าเมืองการบิน คาดอุตสาหกรรมการบินกลับมาฟื้นตัวภายใน 2 ปี หลังก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาเสร็จภายใน 4 ปี เปิดรับอุตสาหกรรมการบินบูม เผยหลังวิกฤติโควิด-19 เปิดประมูลศูนย์ซ่อมอากาศยานเฟส 2 มั่นใจต่างชาตืแห่ร่วมประมูล ระบุ อุตฯชีวภาพ – วัสดุชั้น

การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกเริ่มต้นแล้ว โดยบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (กลุ่มบีบีเอส) ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาให้อู่ตะเภาเป็น Aviation Hub

นางลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการ สายงานการลงทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ สกพอ. เปิดเผยว่า ภาวะโควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อโครงการเมืองการบินของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อยู่บ้าง ซึ่งจากการหารือกับผู้เชี่ยวขาญในอุตสาหกรรมการบิน มองว่าอย่างไรคนก็ต้องเดินทางแต่ต้องใช้เวลาฟื้นตัว เพราะระยะห่างของทวีปจำเป็นต้องเดินทางทางอากาศเป็นหลัก 

หลายฝ่ายประเมินว่าภายใน 2 ปี นับจากนี้ การเดินทางทางอากาศจะทยอยกลับมาเป็นปกติ ในขณะเดียวกันเรื่องการขนส่งจะสำคัญมากขึ้น และการขนส่งทางอากาศจะกลับมาเร็ว ดังนั้น เมืองการบินยังคงมีความสำคัญ ซึ่งการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาที่ลงนามไปแล้วจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 4 ปี เมื่อก่อสร้างเสร็จจะเป็นช่วงที่การเดินทางทางอากาศขยายตัว โดยการขนส่งทางอากาศจะเป็นโอกาสที่สำคัญของเมืองการบิน

ทั้งนี้ วิกฤติโควิด-19 จะทำให้รูปแบบธุรกิจการบินเปลี่ยนไปจากเดิมที่ใช้เครื่องบินขนาดใหญ่มาก แต่อาจจะไม่เป็นที่นิยมในอนาคต ในขณะที่แนวโน้มในอนาคตจะเป็นการใช้เครื่องบินขนาดกลางที่มีความถี่การบินมากขึ้น ดังนั้น อาจปรับการออกแบบรายละเอียดของสนามบินตามความถี่ และขนาดของเครื่องบิน และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

ภาพรวมของเมืองการบินจะมีส่วนสนับสนุน เช่น ฟรีโซน ศูนย์ธุรกิจ ซึ่งการพัฒนาส่วนนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนศูนย์ซ่อมบำรุงเดิมที่วางไว้ต้องมีขนาดใหญ่เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ อาจจะต้องเปลี่ยนไปลดขนาดลง เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดกลางและเล็กได้หลายลำขึ้น

ในขณะที่การประมูลศูนย์ซ่อมอากาศยาน แม้ในรอบแรกที่เปิดประมูลยังไม่มีใครมายื่นซองประมูล แต่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องมาสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานแห่งนี้ เพราะได้รื้ออันเก่าที่มาบตาพุดออกไปจากการขยายพื้นที่รันเวย์ของสนามบิน แต่อาจจะปรับรูปแบบให้เข้ากับธุรกิจในอนาคต 

ทั้งนี้ ในอีอีซีจะมีเขตศูนย์ซ่อมอากาศยานอื่นที่จะมีการเปิดประมูลต่อไป ยังมีเอกชนหลายรายสนใจ จากการวิเคราะห์มองตรงกันว่าการเดินทางทางอากาศจะต้องกลับมาเป็นปกติ และการที่ไทยเป็นจุดเชื่อมเส้นทางการบินที่สำคัญในภูมิภาค รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในเอเชียแปซิฟิกจะทำให้การซ่อมบำรุงในภูมิภาคนี้คุ้มกว่าการนำกลับไปซ่อมที่ยุโรปหรือสหรัฐ เพราะคุ้มค่ามากที่สุด อย่างไรก็ตามแผนการณ์อาจจะช้าออกไปบ้าง

“เมืองการบินมีอีกพื้นที่ทำศูนย์ซ่อมบำรุงอื่นที่ไม่ใช่โครงการของการบินไทย ที่จะเปิดประมูลต่อไป ซึ่งพบว่ามีบริษัทเอกชนสนใจเข้ามาประมูลมากกว่าพื้นที่ที่มีให้ ซึ่งเอกชนจะเข้ามาลงทุนเองทั้งหมด ภาครัฐจะให้เข้ามาเช่าพื้นที่ ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โครงการนี้จะมีความชัดเจนขึ้น”

ส่วนของการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง แม้ว่าไทยมีจุดเด่นหลายด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลโย ความได้เปรียบในเรื่องโครงข่าย 5 จี ที่จะใช้ในอีอีซี ให้ได้ 50% ภายในปี 2564 และการเร่งพัฒนาบุคลากรทักษะสูง แต่ไทยมีจุดอ่อนเรื่องข้อตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่น้อยกว่าคู่แข่ง 

โดยเฉพาะข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) และเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งที่นักลงทุนเข้ามาถามกันมากในเรื่องกรอบเวลาการดำเนินการ โดยเฉพาะเอฟทีเออียู เพราะเป็นตลาดใหญ่สำคัญมาก และเวียดนามได้ลงนามข้อตกลงเหล่านี้ไปแล้ว

จากการหารือกับนักลงทุนที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมเป้าหมายจะถามเรื่องแรงงานที่มีทักษะสูงเพื่อรองรับเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งไทยเริ่มทำเรื่องทักษะแรงงานมาแล้ว และจะรองรับการลงทุนได้ในอนาคต ส่วนเขตการค้าเสรีเป็นเรื่องรองที่นักลงทุนถามเข้ามา

นอกจากนี้โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหลายเรื่องภาคเอกชนลงทุนไม่ได้ ดังนั้นรัฐบาลหรือสถาบันวิจัยควรลงทุนและเก็บค่าบริการให้เอกชนมาใช้ร่วมกัน จะเป็นตัวดึงดูดที่สำคัญ ซึ่งในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) และมีหลายโครงการที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) ขับเคลื่อนจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการดึงการลงทุน 

ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ต่างชาติเห็นว่ารัฐบาลวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี มีห้องแล็ปให้ใช้ในอุตสาหกรรมชั้นสูง ซึ่งจุดแข็งนี้ทำให้ไทยแข่งกับประเทศอื่นที่มีค่าแรงต่ำกว่าได้

สำหรับอุตสาหกรรมที่เข้ามาหารือกับ สกพอ.เป็นพิเศษ จะเป็นอุตสาหกรรมชีวภาพและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีวัสดุขั้นสูงชนิดใหม่ เช่น การนำผลผลิตจากอ้อยผลิตเส้นใยที่ค่าความเหนียวสูงเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งเข้ามาหารือ 4-5 ราย เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่ยังไม่มีในอาเซียน รวมถึงอุตสาหกรรมดิจิทัลและออโตเมชั่นที่เข้ามาหาารือ

ส่วนอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ซับซ้อน หรือเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน หรือเป็นเรื่องใหม่มากยังไม่มีการจัดประเภทที่ต้องปลดล็อกกฎระเบียบก็เข้ามาหารือเพื่อให้ช่วยปลดล็อก ซึ่ง สกพอ.จะเข้าไปช่วยเหลือนักลงทุน

นอกจากนี้ สกพอ.ทำงานร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นสูงที่จะย้ายออกจากจีน ซึ่งไทยมีความสัมพันธ์กับนักลงทุนญี่ปุ่นมานาน ส่วนบีโอไอปรับแพ็คเกจใหม่ตลอดเพื่อดึงการลงทุน 

รวมทั้ง สกพอ.ได้ทำงานกับกลุ่มธุรกิจของประเทศที่มีความร่วมมือดึงเข้าไทย เช่น องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ร่วมมือดึงอุตสาหกรรมที่เหมาะสมเข้ามาไทย ทำงานร่วมกับธนาคารต่างประเทศ เพราะธนาคารทำงานใกล้ชิดกับลูกค้าอยู่แล้ว ลูกค้าจะย้านฐานไปประเทศใดต้องกู้แบงค์ไปลงทุน เราจึงทำงานกับธนาคารชั้นนำของ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐ เพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมายให้มาในอีอีซี