แห่ของบ 'ฟื้นฟูโควิด' เฉียด 8 แสนล้าน สสว.หน่วยงานเดียว 1.5 แสนล้าน

แห่ของบ 'ฟื้นฟูโควิด' เฉียด 8 แสนล้าน สสว.หน่วยงานเดียว 1.5 แสนล้าน

คำของบฟื้นฟูโควิดทะลุ 7.8 แสนล้าน สสว.หน่วยงานเดียวของบช่วยเอสเอ็มอี 1.5 แสนล้านบาท สศช.เปิดรับโครงการต่อ กระจายกลุ่มประชาสังคมเสนอได้ ดึงสำนักงบฯ ช่วยตรวจสอบ จ่อชง ครม.อนุมัติรอบแรกต้น ก.ค.นี้

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ รายงานการเสนอคำขอโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมตามวงเงิน 4 แสนล้านบาทภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563

โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รับมอบเป็นหน่วยงานหลักคัดกรองข้อเสนอโครงการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งเปิดให้ยื่นโครงการเบื้องต้น (Project Brief) ตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา

สถานะการเสนอโครงการล่าสุดที่เปิดเผยผ่านระบบ “ThaiMe” ในเว็บไซต์ สศช. ณ วันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมามีคำขอ 31,801 โครงการ วงเงินรวม 783,348 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าวงเงินที่มี 4 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่มีการปิดรับข้อเสนอและมีแนวโน้มที่คำของบฟื้นฟูโควิดจะสูงเกิน 8 แสนล้านบาท

159192678612

สำหรับโครงการที่มีวงเงินสูงที่เสนอเข้ามา เช่น

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดดลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอโครงการพลิกฟื้นธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็น NPL ให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้วงเงิน 1 แสนล้านบาท โครงการฟื้นฟูศักยภาพการดำเนินธุรกิจสำหรับเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท รวม 1.5 แสนล้านบาท

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ของบโครงการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 วงเงิน 5,218 ล้านบาท

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอโครงการไทยเที่ยวไทยไป EEC วงเงิน 2.62 หมื่นล้านบาท โครงการชะลอการว่างงานในภาคอุตสาหกรรมพื้นที่ จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา วงเงิน 7.8 พันล้านบาท

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดเสนอ วงเงิน 2.04 หมื่นล้านบาท และโครงการสร้างความเข้มแข็งเกษตรกรทฤษฎีใหม่ 58,900 ล้านบาท

กระทรวงการคลัง โครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 5.5 หมื่นล้านบาท

กระทรวงคมนาคม เสนอ 669 โครงการ เช่น ทางหลวงชนบท จ.สระแก้ว 79 โครงการ แบ่งเป็นโครงการละ 9.9 ล้านบาท

159192683715

สศช.ชี้ต้องตอบโจทย์ฟื้นเศรษฐกิจ

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สศช.ในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงานโครงการฯ เปิดเผย“กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การพิจารณาโครงการที่มีการเสนอเข้ามาขอใช้วงเงินฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทคณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณาถึงผลที่เกิิดต่อเศรษฐกิจของประเทศ

โดยต้องตอบโจทย์หลักในระยะเร่งด่วนของประเทศ คือ การสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง เน้นการจ้างงาน รวมทั้งจะต้องตอบโจทย์การสร้างโอกาสรายได้ สร้างโอกาสที่จะมีชีวิตและอาชีพที่มั่นคงขึ้น 

“โครงการที่คณะกรรมการฯให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆคือโครงการที่จ้างงานได้รวดเร็ว โครงการที่ทำให้อาชีพในพื้นที่มีความมั่นคงมากขึ้น เช่นโอทอป ท่องเที่ยวชุมชน ทำโคกหนองนาโมเดล ที่ทำให้คนในชุมชนมีอาชีพในระยะยาว ศูนย์เครื่องจักรชุมชนที่เกษตรกรในพื้นที่มาเวียนกันใช้ปัจจัยการผลิตถือว่าเป็นโครงการที่จะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรกๆ”

เข้มงวดโครงการสร้างถนน

ส่วนการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน หรือการสร้างถนนที่มีการเสนอเข้ามาจำนวนมาก แม้โครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในประเภทแผนงานที่คณะกรรมการฯ จะพิจารณา แต่ก็ต้องตอบคำถามว่าการสร้างถนนทำไปแล้วไปช่วยสร้างโอกาสอะไรบ้าง โดยการคัดกรองโครงการที่เกี่ยวกับการสร้างถนนต้องมาดูว่าเป็นโครงการที่ขอสร้างถนนไปเพื่ออะไร 

ทั้งนี้ หากเป็นการสร้างถนนที่ตอบความต้องการระยะยาวของประชาชนได้ เช่น ถนนบางเส้นที่เข้าไปสู่ชุมชนขรุขระมาก สัญจรเข้าออกชุมชนได้ไม่ดีแบบนี้ของบประมาณมาได้ แต่ถ้าจะขอมาแบบกระจายหมู่บ้านละ 500 เมตรแบบนี้คงให้ไม่ได้เพราะที่เหลือจะใช้งานกันอย่างไร หรือถ้าเป็นถนนที่เป็น Missing link แบบนี้ก็ยังตอบได้ว่าไปช่วยเชื่อมโยงการเดินทาง ช่วยขนส่งผลผลิตให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ ซึ่งโครงการพวกนี้ก็ต้องใช้เวลาก็จะเป็นโครงการลำดับท้ายที่จะพิจารณา

ภาคประชาสังคมของบได้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการของภาคประชาสังคม เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มคนที่ทำงานกับชุมชน มูลนิธิที่ต้องการเงินสนับสนุนในการฟื้นฟูให้เกิดอาชีพและการจ้างงานแต่ไม่มีส่วนราชการที่จะเสนอเรื่องเพื่อของบประมาณได้โดยตรงก็ให้เสนอขอใช้วงเงินในส่วนนี้ได้โดยเขียนโครงการขึ้นมาเพื่อให้คณะกรรมการฯพิจารณาได้  

โดยการจะเข้ามาใช้เงินในส่วนนี้จะต้องมีการเสนอโครงการเข้ามายืนยันว่าจะไม่มีการกันวงเงินไว้ให้รวมทั้งโครงการที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศก็ต้องรอข้อเสนอจากกระทรวงการคลังและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาฯที่อยู่ระหว่างการหารือว่ารูปแบบและงบประมาณที่จะใช้ 

มั่นใจระบบตรวจสอบใช้งบ

รายงานข่าวจาก สศช.ระบุว่า อนุกรรมการพิจารณาโครงการ จะมีผู้แทนจาก สศช.สำนักงบประมาณ กระทรวงการการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยโครงการที่ยื่นขอต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบโควิด

ส่วนการติดตามตรวจสอบจะเป็น 3 ส่วน คือ 1.ภาครัฐ จะมีคณะอนุกรรมการติดตาม ผู้ตรวจราชการกระทรวง ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.)

2.ภาคประชาชน จะมี-การตรวจสอบทางสังคม (Social Auditing) และระบบการร้องเรียน (Whistle blower) 3.หน่วยงานภายนอก เช่น UNDP ธนาคารโลก