สัตวแพทย์ แนะไบโอซีเคียวริตี้ในฟาร์ม ป้องกันอหิวาต์หมู

สัตวแพทย์ แนะไบโอซีเคียวริตี้ในฟาร์ม ป้องกันอหิวาต์หมู

สมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย แนะจัดระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ป้องกันอหิวาต์หมู ขณะผู้เลี้ยงรายใหญ่ ตั้งกฎเหล็ก ห้ามใช้เศษอาหารจากครัวเรือนใช้เลี้ยงหมู หวั่นเป็นความเสี่ยง

นายสุเจตน์ ชื่นชม นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย เปิดเผยว่า ตามข้อมูลการเกิดโรค แฟริกันสไวท์ฟีเวอร์ หรืออหิวาต์แอฟริกาในสุกร (AFS) ที่รายงานในต่างประเทศ มักเกิดกับฟาร์มรายย่อยที่ไม่มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Bio-security) มากกว่าฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีการจัดทำระบบดังกล่าวเป็นพื้นฐานสำคัญ ซึ่งเป็นระบบการจัดการและมาตรการทางกายภาพที่ดำเนินการเพื่อป้องกันและควบคุมโรค

โดยการลดความเสี่ยงของการนำเชื้อโรคเข้ามาสู่ฟาร์ม หรือกระจายของเชื้อโรคภายในและออกจากฟาร์ม รวมถึงการแพร่กระจายของโรคในประชากรสัตว์ ซึ่งเป็นไปได้ว่า สาเหตุหลักของการเกิดโรคดังกล่าว อาจมาจากการที่ประเทศต่างๆ ใช้เศษอาหารจากครัวเรือนที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ปรุงไม่สุกไปเลี้ยงสุกร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้วงการสัตวแพทย์ทั่วโลกทราบดี และทุกประเทศจะมีคำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องให้กับผู้เลี้ยงสุกรทุกราย ทั้งรายย่อยและรายใหญ่

ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยและทุกภาคส่วนมีการร่วมมือกันถ่ายทอดองค์ความรู้และจัดอบรมในประเด็น ASF ในสุกร อย่างต่อเนื่อง ให้กับผู้เลี้ยงรายย่อยเป็นหลัก เพราะบริษัทใหญ่มีระบบที่ดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว แต่ปัญหา คือ ยังคงพบเกษตรกรรายย่อยใช้เศษอาหารเลี้ยงสุกรและไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ปฏิบัติง่ายมาก

สำหรับบริษัทใหญ่ ไม่ใช้เศษอาหารเลี้ยงสุกรเด็ดขาด แต่ใช้อาหารที่ผลิตขึ้นเพื่อสุกรเท่านั้น ที่สำคัญไม่ใช้วัตถุดิบที่มีโปรตีนจากสุกรเข้าไปเป็นองค์ประกอบในอาหารสัตว์

ส่วนกรณีที่มีการวินิจฉัยว่าเกิดโรคขึ้นในฟาร์มแล้ว องค์การโรคระบาดสัตว์แห่งชาติจะแนะนำให้ทำลายสุกรป่วยและตาย ด้วยการฝังหรือเผาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนไปกับเนื้อสุกร เพราะเชื้อโรคนี้มีความคงทนอยู่ในเนื้อสุกรได้นานมาก ซึ่งเป็นกฎเหล็กที่ฟาร์มทุกฟาร์มต้องปฎิบัติอย่างเคร่งครัด เมื่อพบการติดโรค

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจแนวทางการปฏิบัติและบริหารจัดการฟาร์มของรายย่อยในแทบทุกประเทศ กลับไม่ค่อยปฏิบัติตามและบางครั้งอาจฝ่าฝืน เมื่อฟาร์มเกิดติดโรคก็จะลักลอบขายสุกรออกจากฟาร์มหรือทิ้งสุกรตายลงแม่น้ำ ทำให้เชื้อโรคยิ่งแพร่กระจายสู่ฟาร์มที่ไม่เข้มงวดในระบบ Bio-security

นอกจากนี้ การขนส่งเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรไปยังสถานที่ต่างๆ อาจนำเชื้อโรคนี้ติดไปด้วยและวงจรโรคจะสมบูรณ์อีกครั้ง เมื่อมีผู้เลี้ยงสุกรมาสัมผัสเนื้อสุกรที่ปนเปื้อนโรคนี้แล้วกลับเข้าไปเลี้ยงสุกรในฟาร์มหรือนำเศษอาหารที่มีเนื้อสุกรที่มีเชื้อโรคปนเปลื้อนเหล่านี้ไปเลี้ยงสุกร จะส่งผลให้สุกรในฟาร์มขอตนเองป่วยได้ สิ่งที่บริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมทั่วโลกปฎิบัติเพื่อป้องกันโรค ASFในสุกร คือ ห้ามนำเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์เข้าไปทำอาหารที่ฟาร์ม

สำหรับบริษัทที่เลี้ยงในระบบอุตสาหกรรมหลายราย จะป้องกันโรค ASF ในสุกร อย่างเข้มงวด และเป็นกฎเหล็กที่ทุกฟาร์ม ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามนำเศษอาหารจากครัวเรือนใช้เลี้ยงหมู ห้ามนำหมูจากแหล่งอื่นเข้าไปกินในฟาร์ม ห้ามให้สัตว์พาหะเข้าไปในเขตฟาร์ม ห้ามให้บุคคลภายนอกเข้าฟาร์ม ห้ามนำอุปกรณ์หรือสิ่งของจากภายนอกเข้าฟาร์ม ห้ามให้รถขนส่งจากภายนอกเข้าเขตฟาร์ม ห้ามรถลูกค้าเข้ามาซื้อหมูที่ฟาร์ม เป็นต้น

“ปกติการสรุปสาเหตุการเกิดโรค คงฟังจากผู้ประกอบการฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะไม่มีใครยอมรับความผิดพลาดของตนเอง และการอ้างว่าติดต่อจากอาหารต้องมีผลแลปประกอบเท่านั้น ทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้ เกษตรกรทุกคนควรผลิตสัตว์ด้วยความรับผิดชอบเช่นกัน”