‘วิถีอุ้ม’ วิถีอาเซียน

‘วิถีอุ้ม’ วิถีอาเซียน

สัปดาห์ก่อนมีข่าวเล็กๆ บนโซเชียลมีเดียไทย ก่อนจะเพิ่มดีกรีเป็นข่าวใหญ่บนสื่อกระแสหลัก กรณี “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” นักเคลื่อนไหวชาวไทย ถูกกลุ่มคนมีอาวุธอุ้มหายไปกลางวันแสกๆ จากหน้าที่พักในกรุงพนมเปญ กัมพูชาต่อหน้าผู้เห็นเหตุการณ์และกล้องวงจรปิด

ชะตากรรมของวันเฉลิมทำให้ผู้ที่ห่วงใยย้อนคิดไปถึงเหตุการณ์เมื่อปลายปี 2561 ที่มีการพบศพ 3 ศพถูกฆ่าทิ้งแม่น้ำโขงแล้วลอยมาขึ้นฝั่งประเทศไทย พิสูจน์ดีเอ็นเอแล้วพบว่า 2 ศพเป็นชาวไทยผู้มีความคิดทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาลแล้วลี้ภัยไปอยู่ประเทศลาว เชื่อกันว่าอีก 1 ศพที่หายไปเป็นเพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์ 

ความสำคัญของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่แค่บริบทของการเมืองไทยแต่เป็นบริบทของอาเซียน ที่คนจากประเทศอื่นๆ ก็มีชะตากรรมแบบเดียวกันนี้ 

ข้อมูลจากเฟซบุ๊ค Amnesty International Thailand เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2562 ระบุว่า สมบัด สมพอน นักพัฒนาชาวลาวจากแขวงคำม่วน นักกิจกรรมภาคประชาสังคมคนสำคัญของลาว เจ้าของรางวัลรามอน แมกไซไซ หายตัวไปแบบปริศนาจากท้องถนนในนครเวียงจันทน์เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2555 ระหว่างที่เขาขับรถตามภรรยาเพื่อจะไปรับประทานอาหารเย็นด้วยกัน

ถัดไปไม่กี่วัน เว็บไซต์ประชาไท รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2562 สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ออกแถลงการณ์เรียกร้องไทยเร่งติดตามตัว อ็อด ไชยะวง  ผู้ลี้ภัยชาวลาวที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในไทยและอยู่ระหว่างการรอการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่ 3

อ็อด เป็นอดีตนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน พักอยู่กับเพื่อนผู้ลี้ภัยชาวลาวในไทย ได้ขาดการติดต่อกับเพื่อนๆ ในวันที่ 26 ส.ค. 2562 เวลา 17.30 น. และมีข้อความสุดท้ายของเขาผ่านแมสเซนเจอร์เมื่อเวลา 18.34 น.และหลังจากนั้นก็ขาดการติดต่อกับเพื่อนๆ โทรศัพท์ถูกปิด และไม่สามารถติดต่อได้อีกนับจากนั้น

หรือกรณี เจือง ซวี เญิต นักข่าวเวียดนามและบล็อกเกอร์รายสัปดาห์ของ Radio Free Asia ที่ถูกบังคับพาตัวหายไปจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2562

ถ้าเปรียบเป็นละครก็แค่เปลี่ยนตัวแสดงและโลเคชันส่วนพล็อตเรื่องนั้นยังเหมือนเดิม ฉากต่อไปหลังจากนี้คือครอบครัว เพื่อนฝูง นักเคลื่อนไหว ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม แล้วไม่นานเรื่องราวของพวกเขาจะเลือนหายไปจากกระแสสังคม ทิ้งไว้แต่ความเจ็บปวดของผู้เป็นที่รัก ที่รอคอยการกลับมาวันแล้ววันเล่าจนสิ้นหวัง

การจะหวังพึ่งองค์กรระหว่างประเทศก็ยิ่งเป็นไปได้ยาก เมื่อเหตุการณ์ทำนองนี้ถูกจัดให้เป็น “การเมืองภายใน” แม้แต่สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศระดับภูมิภาคก็มีหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน (Principle of Non-interference) ที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรอาเซียน เพื่อให้สมาชิกเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ภายใต้บริบทการก่อตั้งอาเซียนเมื่อปี 2510 โลกกำลังระอุด้วยสงครามเย็น 

อาเซียนอ้างตัวว่าเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง อีกทั้งยังมีกลไกทางด้านสิทธิมนุษยชน หรือ ที่รู้จักกันในนาม AICHR- ASEAN Intergoverntal Commission on Human Right แต่กลับปล่อยปละละวางเรื่องการอุ้มหาย (forced disapperance) มาโดยตลอด ชั่วระยะเวลา 1 ทศวรรษที่ตั้งกลไกนี้ขึ้นมา เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนดูเหมือนว่าเรื่องแบบนี้เป็นประเพณีปฎิบัติของอาเซียนไปเสียแล้ว