ตลาด 'หุ้นกู้' ฟื้นยอดระดมทุนพุ่ง 10 บริษัท แห่ยื่นไฟลิ่งปลุกบรรยากาศคึกคัก

ตลาด 'หุ้นกู้' ฟื้นยอดระดมทุนพุ่ง 10 บริษัท แห่ยื่นไฟลิ่งปลุกบรรยากาศคึกคัก

“ไทยบีเอ็มเอ” เผยตลาดหุ้นกู้เริ่มฟื้น หลังเอกชนเริ่มหันมาระดมทุน ชี้ล่าสุดมีกว่า 10 บริษัท ยื่นไฟลิ่งออกขายหุ้นกู้ มั่นในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ยอดระดมทุนไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้าน สะท้อนความเชื่อมั่นเริ่มกลับมา

สถานการณ์การออกขายตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น โดยปัจจุบันเริ่มเห็นบริษัทเอกชนหลายแห่งเข้ามาระดมทุนในตลาดนี้ สะท้อนผ่านจำนวนการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้นกู้ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.2563

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนยื่นแบบไฟลิ่งเพื่อเสนอขายหุ้นกู้กับทาง ก.ล.ต.แล้วเกือบ 10 ราย ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ที่ชะลอการขายหุ้นกู้ออกไปจำนวนมาก 

โดยช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพ.ค.2563 พบว่า มีการเสนอขายหุ้นกู้รวมเป็นวงเงินราว 1 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า จะมีหุ้นกู้ออกเสนอขายอีกไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท 

ส่วนสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ คาดว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาอาจมีนักลงทุนบางส่วนที่โยกเงินจากตลาดตราสารหนี้ไปไว้กับธนาคารพาณิชย์ แต่เมื่อบรรยากาศการลงทุนเริ่มดีขึ้น และสภาพคล่องเริ่มกลับมา จึงเชื่อว่าสถานการณ์การออกหุ้นกู้ในระยะข้างหน้าจะเริ่มทยอยฟื้นตัวเป็นปกติ และยังไม่มีประเด็นใดที่น่ากังวล

158920313561

สำหรับยอดออกหุ้นกู้ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ที่อยู่ระดับ 1.5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามยอมรับว่าอาจต้องปรับลดเป้าหมายการออกหุ้นกู้ในปีนี้ลง จากเดิมที่คาดว่าจะทำได้ระดับ 8-8.5 แสนล้านบาท แต่การปรับลดเหลือเท่าไหร่นั้นยังไม่แน่ชัด เพราะการปรับเป้าหมายในเวลานี้อาจเร็วเกินไป ยังต้องรอประเมินความชัดเจนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ "โควิด-19" ก่อน รวมทั้งยังต้องดูมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ด้วย

"การฟื้นตัวของธุรกิจอาจต้องใช้เวลา แต่บรรยากาศตลาดทุนน่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หากมีการควมคุมการแพร่ระบาดได้และมีมาตรการของภาครัฐมาช่วยหนุน ขณะที่มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของแบงก์ชาติก็สามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้เยอะโดยเฉพาะกลุ่มที่มีเครดิตเรทติ้ง"

ด้าน นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยระยะยาวยังเป็นขาขึ้น โดยคาดว่าปีนี้มีโอกาสที่ดัชนีฯจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1,400 จุด หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% จากในช่วงปัจจุบัน เนื่องจากปริมาณสภาพคล่องที่ล้นทั่วโลกและการจัดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ดีของไทยช่วยหนุน ประกอบกับตลาดหุ้นไทยได้ตอบรับผลกระทบที่เกิดขึ้นไปแล้ว 

โดยนับจากช่วงต้นปีที่ผ่านมามาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นไทยลดลงไปแล้วกว่า 3.2ล้านล้านบาท และจีดีพีปรับตัวลดลงกว่า 1 ล้านล้านบาท รวมถึงนักวิเคราะห์หลายแห่งได้ปรับลดคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนลงกว่า 30% ซึ่งต่อจากนี้คาดว่าภาพรวมของตลาดน่าจะเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตามมองว่าในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นโลกไม่น่าปรับตัวขึ้นสูงมากนัก เนื่องจากนักลงทุนยังมีความกังวลในเรื่องการระบาดของโควิด-19 รอบที่สอง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะออกมาอย่างไร  เพราะมาตรการที่ออกมาในปัจจุบันยังเป็นเพียงการเยียวยาผลกระทบเท่านั้น จึงยังมองภาพการลงทุนยังไม่ชัดเจนและไม่กล้าเข้าลงทุนแบบเต็มตัว 

นอกจากนี้ สำหรับความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นไทยจะกลับไปสู่ภาวะหมีนั้นเชื่อว่ามีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากการแก้ปัญหานั้นดีขึ้นและหากเกิดการแพร่ระบาดอีกรอบก็น่าจะมีมาตรการที่ปิดล็อกเป็นบางจุดๆเท่านั้น

ด้านดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ (11พ.ค.2563) ปิดที่ 1,287.30 เพิ่มขึ้น 21.28 หรือ 1.68% มีมูลค่าการซื้อขาย 56,801.03 ล้านบาท โดยดัชนีหุ้นที่เด้งแรง เกิดจากแรงซื้อของกลุ่มกองทุนในประเทศ ซึ่งเข้ามาในกลุ่มหลัก เช่น กลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคารพาณิชย์ รวมถึงกลุ่มโรงไฟฟ้าบางตัว