เปิดทำเนียบประเทศ 'ประชาชนเชื่อมั่น' แก้วิกฤติโควิด-19

เปิดทำเนียบประเทศ 'ประชาชนเชื่อมั่น' แก้วิกฤติโควิด-19

ในช่วงที่นานาประเทศกำลังดิ้นรนแก้วิกฤติไวรัสโคโรน่า รายงาน “การรับรู้วิกฤติโลก” ฉบับล่าสุดสำรวจพบว่า แม้ประชาชนส่วนใหญ่ทั่วโลกไม่พอใจวิธีการรับมือโรคระบาดของผู้นำ แต่ "จีน" รั้งเบอร์ 1 ประชาชนเชื่อมั่นแก้วิกฤตินี้ ส่วนไทยติดใน 20 อันดับแรกของโลก

บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลแบล็กบ็อกซ์รีเสิร์ชและโทลูนา จัดทำดัชนีการรับรู้วิกฤติโลก สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนราว 12,500 คน ใน 23 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ระหว่างวันที่ 13-19 เม.ย. ผู้ให้ข้อมูลให้คะแนนชาติตนใน 4 ด้าน ได้แก่ ผู้นำทางการเมือง ผู้นำภาคเอกชน ชุมชน และสื่อ พบว่า ประชาชนจาก 7 ใน 23 ประเทศ/ดินแดนเท่านั้นที่ชื่นชอบนโยบายสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า โดยจีนประเทศที่เชื่อกันว่าเป็นต้นกำเนิดไวรัส ครองอันดับ 1 ประชาชนชื่นชอบมาตรการรับมือของรัฐบาลสูงสุดด้วยคะแนน 85 เต็ม 100 ตามด้วยเวียดนาม 77 คะแนน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และอินเดีย ได้ 59 คะแนนเท่ากัน มาเลเซีย 58 คะแนนทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ในทวีปเอเชีย

นิวซีแลนด์ที่ได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติเรื่องรับมือไวรัสได้ดี และสัปดาห์ก่อนเริ่มผ่อนคลายมาตรการเข้มงวด อยู่ในอันดับ 6 คะแนนรวม 56 คะแนน เป็นชาติตะวันตกเพียงชาติเดียวที่ได้คะแนนสูงกว่า 45 ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยโลก 

ออสเตรเลียได้ 43 คะแนน สหรัฐ 41 ประเทศยุโรปตะวันตก 4 ประเทศที่สำรวจ ทั้งหมดล้วนมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก เยอรมนี 41 คะแนน สหราชอาณาจักร 37 คะแนน อิตาลี 36 คะแนน และฝรั่งเศส 26 คะแนน

ในกลุ่มท็อปเท็นไต้หวันครองอันดับ 7 คะแนนรวม 50 คะแนน ฟิลิปปินส์ 49 คะแนน ส่วนอินโดนีเซียและสิงคโปร์ได้ 48 คะแนนเท่ากัน ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 18 ได้ 36 คะแนน 

158894959949

เดวิด แบล็ก ผู้ก่อตั้งและประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารแบล็กบ็อกซ์รีเสิร์ช เผยว่า ความไม่พอใจส่วนใหญ่ที่มาจากประเทศตะวันตก อาจสะท้อนถึงจิตวิทยาระดับชาติในแง่ความคาดหวังของประชาชน ที่อยากเห็นการเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

“สำหรับประเทศเหล่านี้หลายๆ ประเทศ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าเป็นเรื่องที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน รัฐบาลยังคงมองว่าเป็นวิกฤติที่ไม่คาดฝัน ส่งผลบั่นทอนความเชื่อมั่นของสาธารณชน ขณะเดียวกันหลายพื้นที่ของเอเชียการเกิดโรคระบาดครั้งก่อนๆ เช่น ซาร์ส (SARS) และเมอร์ส (MERS) ช่วยสั่งสมประสบการณ์ผู้นำ” แบล็กกล่าวพร้อมเสริมว่า 

รัฐบาลญี่ปุ่นถูกมองว่ารับมือวิกฤติช้า ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อผู้นำทางการเมืองตกต่ำมาก

“คะแนนญี่ปุ่นน้อยสอดคล้องกับเสียงวิจารณ์การรับมือโรคระบาดของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะที่มีอย่างต่อเนื่อง เช่น การประกาศภาวะฉุกเฉินล่าช้า กล่าวได้ว่า รัฐบาลไม่ผ่านบททดสอบภาวะผู้นำในช่วงโควิด-19 ระบาด”

ในแง่การรับมือการแพร่ระบาดของภาคธุรกิจ มีเพียงประชาชนจีนและเวียดนามเท่านั้น ที่ให้คะแนนภาคเอกชนในประเทศตนเกิน 50 คะแนน

รายงานยังพบว่า เขตเศรษฐกิจหลักมีความสามารถในการฟื้นตัวจากวิกฤติได้ไม่เท่ากัน ชาวจีนส่วนใหญ่ (85%) เชื่อว่า ประเทศตนจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ได้อย่างแข็งแกร่ง ขณะที่ชาวอเมริกันเชื่อเช่นนี้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง (41%)

หากพิจารณาในแง่ใครได้รับความเสียหายหนักสุด ชาวจีน 63% เชื่อว่า สหรัฐจะฟื้นจากการแพร่ระบาดได้อย่างทุลักทุเลกว่าจีน มีชาวอเมริกันเพียง 37% เท่านั้นที่เชื่อว่า จีนจะฟื้นวิกฤติได้อย่างทุลักทุเลกว่าสหรัฐ

ในการการก้าวต่อไป 3 สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นมากที่สุดหลังวิกฤติ ได้แก่ เศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ภายใน 6 เดือน (58%) ปฏิรูประบบดูแลสุขภาพ (52%) และการใช้เทคโนโลยีตามรอยโรคให้ดียิ่งขึ้น (49%)

“ข้อค้นพบที่ได้แสดงให้เห็นว่าการแพร่ระบาดเปลี่ยนแปลงมุมมองของเราไปอย่างสิ้นเชิง และจะเปลี่ยนวิธีการเดินหน้าการบริหารประเทศ บริการธุรกิจ และการดูแลสุขภาพอย่างเห็นได้ชัด โควิด-19 ไม่ใช่การแพร่ระบาดไปทั่วโลกครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ดังนั้นเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากประชาชน ผู้นำจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลกระทบและผลที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติในระยะยาว เพื่อฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งและยืดหยุ่นยิ่งขึ้น” ผู้บริหารแบล็กบ็อกซ์รีเสิร์ช กล่าวทิ้งท้าย