นักวิจัยแนะทางออก 3 ข้อ 'เลี่ยงวิกฤติอาหาร' ช่วงโควิด

นักวิจัยแนะทางออก 3 ข้อ 'เลี่ยงวิกฤติอาหาร' ช่วงโควิด

"วิกฤติขาดแคลนอาหาร" อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะขณะนี้ บรรดานักวิจัยและองค์ระดับโลกต่างเตือนว่า หากรัฐบาลต่าง ๆ ล้มเหลวในการรับมือการระบาดของโควิด-19 จะกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและการค้าระหว่างประเทศ เพราะหลายประเทศระงับการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์

หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 มาได้สักระยะหนึ่ง องค์กรระดับโลกหลายแห่งต่างออกรายงานเตือนทั่วโลกว่า "มีโอกาสสูง" ที่จะเผชิญ "วิกฤติขาดแคลนอาหาร" หากรัฐบาลต่างๆ ล้มเหลวในการจัดการกับการระบาดของโควิด-19 ที่ดำเนินอยู่ เพราะการระบาดของโรคร้ายส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต และการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากหลายประเทศระงับส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์

คำเตือนขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) และองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ไม่ได้เป็นการคาดการณ์ในแง่ร้ายเกินไป เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในมหานครใหญ่อย่างนิวยอร์ก ซึ่งขณะนี้เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐนั้น ข้าวบรรจุถุงขนาด 15 ปอนด์มีราคาแพงถึง 60 ดอลลาร์ เทียบกับราคาแค่ 30 ดอลลาร์ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19

เช่นเดียวกับในกรุงปารีสของฝรั่งเศส ที่ราคามะเขือเทศเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 2.49 ยูโร เป็น 5.99 ยูโร ส่วนในฮ่องกง ช่วงปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ข้าวกลายเป็นสินค้าขาดแคลนเพิ่มเติมจากหน้ากากหนามัยและกระดาษชำระ เพราะผู้คนแห่ซื้อเพื่อกักตุนไว้ใช้

ช่วงต้นเดือน เม.ย. ราคาข้าวเกรดบีของไทย ซึ่งเป็นเบนช์มาร์คในตลาดข้าวระหว่างประเทศ ปรับตัวขึ้น 20% เป็นตันละ 595 ดอลลาร์ ถือว่าสูงสุดในรอบเกือบ 7 ปี จากที่เคยร่วงลงอยู่ที่ตันละ 570 ดอลลาร์ ส่วนในสหรัฐ ราคาพืชผลการเกษตรปรับตัวขึ้นเป็นตันละ 660 ดอลลาร์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 7 ปีเช่นกัน

ส่วนเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา คาซัคสถาน และอีกหลายประเทศต่างยุติหรือไม่ก็ลดการส่งออกข้าว ทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดวิกฤติราคาอาหารโลกเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2550 และ 2551

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิจัยจำนวนมากมีความเห็นตรงกันว่าการกักตุนสินค้าและการที่ราคาสินค้าพืชเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเพราะความตื่นตระหนกของผู้คน ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถควบคุมได้ โดยปริมาณอาหารโลกที่ถูกเก็บสำรองเอาไว้ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี เพราะฉะนั้นจะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารเหมือนในช่วงเมื่อกว่า 10 ปีก่อน

ที่สำคัญ บรรดานักวิจัยคาดการณ์ว่าการผลิตอาหารในปี 2563 ยังคงแข็งแกร่ง มีเสถียรภาพ

ทีมวิจัยชุดนี้มีความเห็นว่า หัวใจสำคัญ 3 ด้านที่ช่วยให้ทั่วโลกไม่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์เลวร้ายที่สุดด้านอาหาร คือ 1.อย่าตื่นตระหนกหากเจอสถานการณ์กีดกันการส่งออกหรือปกป้องสินค้าเกษตรของแต่ละประเทศ 2.หลีกเลี่ยงการเก็งกำไรในตลาดทุน และ 3.พยายามอย่าทำให้วงจรหรือวัฏจักรของอาหารเลวร้ายลง

ผู้อำนวยการใหญ่ของทั้งเอฟเอโอ ดับเบิลยูเอชโอ และดับเบิลยูทีโอ เตือนผ่านแถลงการณ์ร่วมว่า ความไม่แน่นอนว่าจะมีอาหารเพียงพอหรือไม่ สามารถก่อให้เกิดคลื่นของการระงับการส่งออก ทำให้เกิดการขาดแคลนในตลาดโลก ในช่วงเวลาของการล็อกดาวน์ป้องกันโรคโควิด-19 จึงต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าการหมุนเวียนของการค้ายังคำดำเนินไปอย่างเสรีที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการขาดแคลนอาหาร

การระบาดของโรคโควิดในขณะนี้ ทำให้รัสเซียเตรียมออกคำสั่งห้ามส่งออกข้าวสาลี ขณะที่ก่อนหน้านี้มีหลายประเทศที่ประกาศระงับการส่งออกสินค้าเกษตรในช่วงโควิด-19 ระบาด เช่น คาซัคสถาน ที่ห้ามการส่งออกแป้งสาลี บัควีท และผักหลายชนิด ส่วนเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลกก็ระงับสัญญาการส่งออกข้าวล็อตใหม่ชั่วคราว

ส่วนในระยะยาวกว่านั้น คำสั่งกักตัวและห้ามการเดินทางเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการหยุดชะงักของการผลิตพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากแรงงานภาคการเกษตรไม่เพียงพอและไม่มีความสามารถในการนำอาหารเข้าสู่ตลาด 

ขณะที่การปิดพรมแดนยังส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตสินค้าเกษตรด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาแรงงานต่างชาติในภาคการเกษตร โดยผู้อำนวยการใหญ่ของทั้ง 3 หน่วยงานได้ย้ำความจำเป็นในการปกป้องลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับการผลิต แปรรูปและกระจายอาหาร เช่นเดียวกับการรักษาห่วงโซ่อุปทานอาหารเอาไว้ โดยระบุว่า

"นี่เป็นเวลาที่ควรมีความร่วมมือระหว่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อทำให้แน่ใจว่ามาตรการตอบสนองต่อโควิด-19 จะไม่ทำให้เกิดการขาดแคลนสิ่งของที่จำเป็นโดยไม่ตั้งใจ และยิ่งทำให้ปัญหาความอดอยากหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการแย่ลง"

จีน ซึ่งเป็นประเทศต้นตอการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นแล้ว ยังแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะขาดแคลนอาหาร

อวี๋ คังเจิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรของจีน บอกว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการค้าอาหาร และนำไปสู่วิกฤติอาหารครั้งใหม่ของโลก

"การที่ไวรัสแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก ทำให้เกิดความไม่แน่นอนอย่างมากต่อการค้าและตลาดสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ หากการระบาดยังแพร่กระจายเป็นวงกว้างและทวีความรุนแรงมากขึ้น จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการค้าขายและการผลิตอาหารระหว่างประเทศ และอาจก่อให้เกิดวิกฤติการขาดแคลนอาหารรอบใหม่"

อวี๋ เสริมว่า มาตรการต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดในหลายประเทศ สร้างอุปสรรคให้กับการค้าและจัดหาอาหาร และทำให้เกิดภาวะราคาอาหารผันผวนอย่างรุนแรง แม้แต่จีนที่มีสินค้าเกษตรที่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ยังคงมีสินค้าเกษตรบางรายการที่จีนต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ถั่วเหลือง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการที่ไวรัสแพร่ระบาดไปทั่วโลก

นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรของจีนยังมองว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ประมง พืชผัก และชาของจีนด้วย

แม้แต่โครงการอาหารโลก (ดับเบิลยูเอฟพี) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้ความช่วยเหลือด้านอาหารขององค์การสหประชาชาติ ยังเตือนว่าวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 จะซ้ำเติมภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลกให้รุนแรงขึ้น โดย "เดวิด บีสลีย์" ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอฟพี เผยแพร่รายงาน 2020 Global Report on Food Crises ที่บ่งชี้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวและชะงักงัน

ดับเบิลยูเอฟพี เคยคาดการณ์ไว้ก่อนโรคโควิด-19 ระบาดว่า ประชาชนทั่วโลกประมาณ 135 ล้านคนจะเผชิญกับการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง และการที่โรคโควิด-19 ระบาดจะทำให้ประชากรโลกที่ขาดแคลนอาหารเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายในสิ้นปีนี้ โดยกลุ่มประเทศในแอฟริกาจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด รองลงมาคือทวีปเอเชีย และละตินอเมริกา และราว 77% ของประชากรที่จะเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารรุนแรงมาจากประเทศที่มีสงครามและความขัดแย้งภายในประเทศ เช่น เยเมน ซูดานใต้ และซีเรีย