นโยบายลงทุน ต้องไม่สร้าง ‘อุตสาหกรรมเฒ่าทารก’

นโยบายลงทุน ต้องไม่สร้าง ‘อุตสาหกรรมเฒ่าทารก’

การที่รัฐบาลออกนโยบายและมาตรการสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี เพื่อดึงดูดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยจำกัดระยะเวลาการช่วยเหลือ นับเป็นเรื่องที่ดีและป้องกันการเกิดอุตสาหกรรมเฒ่าทารกได้ แต่ก็ระวังการต่อสิทธิพิเศษเพิ่มที่อาจส่งผลเสียในระยะยาวได้

ตั้งแต่มีการจัดตั้งโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รัฐบาลได้มีนโยบายและมาตรการสนับสนุนการลงทุน เพื่อดึงดูดการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น มาตรการกระตุ้นการลงทุนแพ็คเกจ Thailand Plus ประกอบด้วย สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมตามชื่อ

รัฐบาลกำลังมาถูกทางที่มีการจำกัดระยะเวลาการช่วยเหลือ หรือการกระตุ้นการลงทุน เพราะหากช่วยเหลือหรือกระตุ้นการลงทุนแบบไม่มีขอบเขต อาจจะทำให้เกิด อุตสาหกรรมทารก (Infant Industry) คือ อุตสาหกรรมที่ได้รับการช่วยเหลือหรือปกป้องจากมาตรการของรัฐ ซึ่งบางประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคลาตินอเมริกา รัฐบาลให้การช่วยเหลือจนกลายเป็นอุตสาหกรรมเฒ่าทารก

อุตสาหกรรมทารก (Infant Industry) คือ อุตสาหกรรมที่ได้รับการช่วยเหลือหรือปกป้องจากมาตรการของรัฐ ซึ่งบางประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคลาตินอเมริกา รัฐบาลให้การช่วยเหลือจนกลายเป็นอุตสาหกรรมเฒ่าทารก

ในอดีตประเทศไทยก็เคยมีนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศมาแล้ว เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม พ.ศ.2505 รัฐบาลมีกำแพงภาษีสินค้าขาเข้าจากต่างประเทศ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศที่พึ่งเกิด เพราะมีความเชื่อที่ว่าหากมีการปล่อยให้สินค้านำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาง่าย อุตสาหกรรมภายในประเทศอาจจะไม่สามารถสู้กับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศได้ จนทำให้อัตราภาษีขาเข้าบางรายการสูงกว่า 100%

ข้อดีของอุตสาหกรรมทารกก็มีเหมือนกัน เช่น ช่วยให้อุตสาหกรรมเพิ่งเริ่มต้น ได้มีโอกาสพัฒนาให้เต็มศักยภาพ เพื่อที่สามารถแข่งขัน แต่หากช่วยเหลือเป็นระยะเวลานาน ก็จะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าได้

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ระบุว่า การปกป้องเป็นเวลายาวนานมีผลเสียอย่างน้อย 3 ประการ

1.จะมีประสิทธิภาพการผลิตต่ำ เพราะไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการแข่งขัน

2.มีผลต่อการผลิตขั้นต่อไป เพราะทำให้วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางมีราคาสูงกว่าราคาปกติ

และ 3.ผู้บริโภคต้องสูญเสียสวัสดิการ เพราะต้องซื้อสินค้าในราคาแพงกว่าราคาที่ควรจะเป็น (ผู้จัดการรายวัน ฉ.6 ม.ค.2538)

หากรัฐจะมีนโยบายช่วยเหลือ หรือมาตรการคุ้มครองชั่วคราว รัฐหรือเอกชนที่ให้การช่วยเหลือต้องมีความชัดเจน ว่าผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือนั้นต้องปฏิบัติอะไรบ้าง เพราะหากไม่มีเงื่อนไขหรือสิ้นสุดเวลาการช่วยเหลือที่ชัดเจน อาจจะทำให้ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือไม่กระตือรือร้น

ตัวอย่างเช่น ในช่วงปี 2503 ถึง 2520 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้สนับสนุนการเงินแก่กลุ่มบริษัทใหญ่อย่าง Chaebo โดยมีเงื่อนไขว่า บริษัทต้องพัฒนาตัวเองให้สามารถไล่ตามบริษัทชั้นนำของโลก หรืออีกมาตรการหนึ่งของเกาหลีใต้ ได้แก่ การกำหนดให้อุตสาหกรรมที่ได้รับความช่วยเหลือ ต้องสามารถส่งออกสินค้าของตนได้ หากไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็จะถูกระงับการสนับสนุน หรือเปลี่ยนผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือที่มีศักยภาพมากกว่า

หรืออย่างประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเชีย ได้มีการตั้งเป้าที่จะยกระดับเทคโนโลยีผ่านรัฐวิสาหกิจจากบริษัทข้ามชาติ เพื่อที่จะป้องกัน unproductive rent-seeking หรือพวกบริษัทที่มีการผูกขาด ในระดับหนึ่งผลที่ได้คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจระดับสูงพอสมควร (รายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย)

การช่วยเหลือหรือสนับสนุนอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี ก็เพื่อดึงดูดการลงทุน นโยบายหรือมาตรการต่างๆ มีความชัดเจน และขอบเขตที่แน่ชัดว่าสิทธิพิเศษต่างๆ นั้นมีวันหมดอายุ แต่สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ คือ การต่ออายุสิทธิพิเศษ หรือมีมาตรการอย่างอื่นมาทดแทน เพื่อดึงดูดการลงทุนหรืออยากให้อุตสาหกรรมนั้นอยู่ต่อในเขตอีอีซี

หากมีการต่ออายุ หรือเพิ่มมาตรการต่างๆ เป็นสิ่งที่เหมาะสม สำหรับช่วงเวลาหนึ่งภายใต้เหตุผลหนึ่ง แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้กลับกลายเป็นว่า ไทยไม่ได้ปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ แต่กลับเป็นการอุ้มชูลูกคนอื่นจนเป็นทารกเฒ่า