โควิดเริ่มสะเทือน 'กลุ่มสื่อสาร' 'เลขหมาย' วูบฉุดรายได้

โควิดเริ่มสะเทือน 'กลุ่มสื่อสาร' 'เลขหมาย' วูบฉุดรายได้

หุ้นกลุ่มผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อสาร ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เล่น 3 รายหลัก ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) นับแต่ต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้ต่ำกว่

ล่าสุด DTAC เป็นบริษัทแรกที่รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2563 ออกมาแล้ว โดยรายได้เพิ่มขึ้น 4.8% จากปีก่อน ส่วนกำไรโตราว 15% อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่ตลาดจับตาดูมากสุด คือ จำนวนเลขหมายที่ลดลงไปราว 1 ล้านเลขหมายของ DTAC

พิสุทธิ์ งามวิจิตรวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า การลดลงของจำนวนเลขหมายของ DTAC ราว 1 ล้านเลขหมาย เกิดจาก 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่เป็นเลขหมายจากระบบรายเดือน (Post-paid) ซึ่งลดลงไปประมาณ 3 แสนเลขหมาย เป็นเพราะการปรับเปลี่ยนวิธีการนับ หากตัดส่วนนี้ออกไปจะเห็นว่าจำนวนเลขหมายโดยรวมเพิ่มขึ้น 4.5 หมื่นเลขหมาย ส่วนอีกราว 7 แสนเลขหมาย เกิดจากระบบเติมเงิน (Pre-paid) ซึ่งลดลงจากสองส่วนคือ กำลังซื้อของคนในประเทศที่ลดลง และนักท่องเที่ยวที่หายไป

“โดยรวมเชื่อว่าไตรมาสแรก ผู้ให้บริการทั้งสามรายจะมีจำนวนเลขหมายลดลงเช่นเดียวกัน แต่ในไตรมาส 2 มีแนวโน้มที่จำนวนเลขหมายจะลดลงน้อยกว่า แต่รายได้จะลดลงมากกว่า เพราะเศรษฐกิจยังเป็นขาลง ในเบื้องต้นประเมินว่ารายได้ของ DTAC น่าจะลดลง 6% จากไตรมาสแรก ส่วน ADVANC และ TRUE คาดว่าจะลดลงเช่นกัน”

ในแง่ราคาหุ้นของทั้ง 3 รายนี้ ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ปรับตัวได้แย่กว่าตลาดโดยภาพรวม น่าจะเป็นผลจากธรรมชาติของหุ้นที่ปรับตัวลดลงแรงก่อนหน้ามักจะฟื้นตัวได้แรงกว่าเช่นกันเมื่อตลาดภาพรวมฟื้นตัว ขณะที่กลุ่มสื่อสารก่อนหน้านี้ลดลงมาต่ำกว่าตลาด ทำให้การฟื้นตัวต่ำกว่า อย่างไรก็ตามมองว่าช่วงไตรมาส 2 และ 3 นี้ ซึ่งเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอ่อนแอ เชื่อว่ากลุ่มสื่อสารจะปรับตัวได้ดีกว่าตลาด

ด้าน บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) ระบุว่า โดยปกติแล้วกลุ่มผู้ใช้งานระบบเติมเงินมักจะเปลี่ยนแปลงไปตามโปรโมชั่นในแต่ละช่วง รวมถึงนักท่องเที่ยวซึ่งใช้งานเพียงแค่ชั่วคราว โดยกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ในปัจจุบันเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยสร้างกำไรมากนัก

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากผลประกอบการของ DTAC จะเห็นว่ารายได้ของบริษัทยังคงเติบโตขึ้นได้ 4.8% จากปีก่อน สะท้อนให้เห็นว่าจำนวนลูกค้าที่ลดลงไปไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในไตรมาส 2 นี้ ผลประกอบการของกลุ่มอาจจะหดตัวลงตามกำลังซื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัด ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังค่อนข้างประเมินได้ยาก แต่โดยทั่วไปแล้วรายได้ของอุตสาหกรรมมักจะสอดคล้องไปกับตัวเลขจีดีพี เพราะฉะนั้น หากการแข่งขันไม่ได้รุนแรงขึ้นมาก เชื่อว่าการหดตัวของรายได้ในระดับ 5% ก็ค่อนข้างจะสูงแล้ว

นอกจากนี้ ประเด็นที่หลายคนกังวลคือ กรณี กสทช. ประกาศให้ผู้ประกอบการช่วยเหลือผู้บริโภคโดยให้สิทธิ์ผู้ใช้งานโทรฟรี 100 นาที ทุกเครือข่าย กำหนดให้กดรับสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1-15 พ.ค. 2563 รวมถึงให้อินเทอร์เน็ตใช้งาน 10 กิกกะไบต์

ส่วนนี้ นฤดม มุจจลินทร์กูล ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า มาตรการดังกล่าวไม่ได้ส่งผลลบต่อต้นทุนของบริษัททั้ง 3 อย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการที่ลูกค้ามีการโทรไปข้ามเครือข่ายเท่านั้น (คิดเป็นต้นทุนค่าเชื่อมโครงข่าย 0.29 บาท ต่อนาที) และไม่ใช่ลูกค้าทั้ง 91.8 ล้านเลขหมาย ที่จะมีการขอรับสิทธิ์ โดยกสทช. คาดจะมีการขอรับสิทธิ์ราว 50 ล้านเลขหมาย นอกจากนี้ ไม่ใช่ลูกค้าทั้งหมดที่จะมีการโทรข้ามโครงข่ายทั้งหมด 100 นาที

โดยภาพรวมคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อกำไรของ ADVANC 1% DTAC 3-5% ในขณะที่ TRUE คาดจะยังคงขาดทุนอย่างต่อเนื่อง จึงยังคงน้ำหนัก “เท่ากับตลาด” และให้ ADVANC ให้เป็นหุ้นเด่น ที่ราคาเป้าหมาย 230 บาท