พาณิชย์ยันเข้าร่วม CPTPP ไม่กระทบเข้าถึงยา การคุ้มครองพันธุ์พืช และการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้าง

พาณิชย์ยันเข้าร่วม CPTPP ไม่กระทบเข้าถึงยา การคุ้มครองพันธุ์พืช และการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้าง

‘พาณิชย์’  ชงครม.ตัดสินใจขอเจรจาเข้าร่วม CPTPP ช่วยขยายส่งออก เพิ่มจ้างงาน ดันจีดีพีไทย ห่วงช้า เสียโอกาสให้เพื่อนบ้าน ซ้ำเติมวิกฤติโควิด-19

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า  ขณะนี้กรมได้เสนอผลการศึกษาและระดมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเรื่องการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของไทย ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี ตามที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์  รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ทั้งนี้ ผลการศึกษาตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์สรุปว่า การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว โดย GDP จะขยายตัว0.12 %  คิดเป็นมูลค่า 13.32 พันล้านบาท  การลงทุนขยายตัว 5.14%  คิดเป็นมูลค่า 148.24 พันล้านบาท  แต่หากไม่เข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบ GDP ไทยลดลง 0.25% คิดเป็นมูลค่า 26.6 พันล้านบาท และกระทบการลงทุน 0.49 % คิดเป็นมูลค่า 14,270 ล้านบาท รวมทั้งจะทำให้ไทยเสียโอกาสขยายการค้าการลงทุนและการเชื่อมโยงห่วงโซ่หรือกระบวนการผลิตในภูมิภาค

นางอรมน กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นปัจจัยเร่งให้ระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบทุกภาคส่วน ตั้งแต่เกษตรกร แรงงาน เจ้าของกิจการ โดยเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาเติบโตเพราะไทยเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตโลก ไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้า ที่มีกำลังการผลิตเพียงพอเกินความต้องการในประเทศ และสามารถเติบโตจนเป็นผู้ส่งออกที่ติดอันดับท๊อปเทนของโลกในสินค้าต่างๆ และมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้มาก เช่น อาหาร รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น

“ภายหลังโควิด-19 รูปแบบการค้า กฎระเบียบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจะเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานของสินค้าที่สูงขึ้น การให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของอาหาร สิ่งแวดล้อม แรงงาน ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล เพื่อช่วยให้ไทยได้แต้มต่อทางการค้า และเป็นประเทศที่น่าสนใจในสายตาของนักลงทุน รวมทั้งไม่ตกขบวนรถไฟของกระบวนการหรือห่วงโซ่การผลิตโลก และเป็นฐานการผลิตและการลงทุนในภูมิภาค ที่จะก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

158796668720

นางอรมน  กล่าวว่า ส่วนข้อกังวลว่า ความตกลง CPTPP จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา การคุ้มครองพันธุ์พืช และการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทย ผลการศึกษาข้อในบทความตกลง CPTPP และข้อผูกพันของประเทศสมาชิก CPTPP พบว่า ความตกลงฯ ได้ถอดเรื่องการขยายขอบเขตและอายุคุ้มครองสิทธิบัตรยา ตลอดจนการผูกขาดข้อมูลผลการทดสอบยาออกไปแล้วตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากการเจรจาความตกลง CPTPP   นอกจากนี้ ความตกลง ข้อ 18.41 และ 18.6 กำหนดให้สมาชิกสามารถบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) และใช้มาตรการเพื่อดูแลเรื่องสาธารณสุข เพื่อดูแลเรื่องการเข้าถึงยาของประชาชนได้ ตามความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก (WTO) ในทุกกรณี รวมถึงการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เพื่อการค้า (public noncommercial use) อีกทั้งจะไม่สุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องในประเด็นการใช้ CL

นางอรมน กล่าวว่า   เรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่และการเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ได้ให้ทางเลือกแก่สมาชิก CPTPP สามารถออกกฎหมาย กำหนดเป็นข้อยกเว้นให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในพื้นที่เพาะปลูกของตนได้ อีกทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากผลผลิตและผลิตภัณฑ์ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของพันธุ์หากซื้อมาถูกกฎหมาย จึงแก้ปัญหาที่เกษตรกรมีข้อกังวลว่าจะไม่สามารถเก็บพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้เมื่อเข้าเป็นสมาชิก UPOV รวมทั้งยังคงสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชในกลุ่มพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์ป่าของพืชทุกชนิดรวมทั้งสมุนไพร และพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครองไปปลูกต่อได้เหมือนเดิมสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ความตกลงฯ เปิดให้สมาชิกสามารถกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของการแข่งขันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ถ้ามูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ก็ไม่ต้องเปิดให้สมาชิก CPTPP เข้ามาแข่งขันทำให้สมาชิก CPTPP สามารถดูแลผู้ประกอบการในประเทศ และมีระยะเวลาปรับตัว เช่น เวียดนาม ขอเวลาปรับตัวถึง 25 ปี

158796671954

“การทำหนังสือถึง ครม. ของกระทรวงพาณิชย์ เป็นเพียงขอพิจารณาให้ไทยเคาะประตูไปเจรจากับสมาชิก CPTPP ซึ่งเป็นเพียงก๊อกแรก หรือขั้นตอนเริ่มต้นเท่านั้น เป็นการขอโอกาสไปคุยกับสมาชิก CPTPP เพื่อเตรียมตัวรับมือการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และรูปแบบการค้าที่จะเปลี่ยนไปหลังโควิด-19”

นางอรมน กล่าวว่า  หากครม.เห็นชอบไทย ขอเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ก็ยังมีอีกหลายขั้นตอน คือ ไทยจะต้องมีหนังสือถึงนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้รักษาความตกลงฯ เพื่อขอเจรจาเข้าร่วม หลังจากนั้น จะมีการตั้งคณะเจรจาซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่เจรจาต่อรองเงื่อนไข ข้อยกเว้น และระยะเวลาในการปรับตัวของไทย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุดการตัดสินใจว่า ไทยจะยอมรับผลการเจรจา และเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือไม่ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มFTA WATCH หรือเอฟทีเอวอท ได้เผยแพรข้อความผ่านแอพพลิเคขั่นไลน์ เชิญชวนประชาชนร่วมชุมนุมออนไลน์กปัองความมั่นคงอาหารและยา คัดค้าน CPTPP  โดยให้ถ่ายภาพตนเองพร้อมข้อความ"No CPTPP" เผยแพร่ในทุกช่องทางการสื่อสาร 

158796673383