'สายด่วนโควิด' ร้องเยียวยาเกือบแสน

'สายด่วนโควิด' ร้องเยียวยาเกือบแสน

ปชช.ร้องเรียนผ่านสายด่วนรัฐบาล ช่วงโควิด 149,937 เรื่อง ปมเยียวยามากสุด 97,962 เรื่อง ร้องการปฏิบัติงาน จนท.รัฐ 26,521เรื่อง ฝากรัฐบาลช่วยเหลือแรงงาน “โฆษกศบค.” ชี้เลิกทำงานอยู่บ้าน เสี่ยงติดเชื้อเพิ่ม แนะปรับรูปแบบทำงาน ให้พนักงาน 75% เข้าออฟฟิศ 25%

วานนี้ (20 เม.ย.) นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) วันที่ 20 เม.ย. ตนได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบว่าสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้รับข้อร้องเรียน ข้อเสนอแนะ และความคิดเห็น ในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ผ่านโทรศัพท์สายด่วน 1111 ระหว่างวันที่ 5 มี.ค.-18เม.ย.2563 รวม 149,937เรื่อง

โดยอันดับ 1 คือ เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ อาทิ การช่วยเหลือด้านการเงิน สิทธิ์การรักษาพยาบาล การแจกหน้ากากอนามัย จำนวน97,962เรื่อง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 65.34 

อันดับ 2 แนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ การขอข้อมูลประกาศ และกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องโควิด การจัดกิจกรรมต่างๆ การคัดกรองและดูแลผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 26,521 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 17.69

อันดับ 3 การให้บริการด้านสาธารณสุข เช่น ขอข้อมูล แนวทางป้องกัน สถานที่และการควบคุมจำหน่ายสินค้า เป็นต้น 21,148 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 14.1 อันดับ 4 การแจ้งขอความช่วยเหลือของประชาชน อาทิ กรณียา และเวชภัณฑ์ไม่เพียงพอ หรือไม่มีคุณภาพ และมีราคาสูง รวมทั้งร้องเรียนให้ปรับปรุงการบริการของหน่วยงาน 4,306 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 2.87 ทั้งนี้การให้บริการในภาพรวม พบว่าเรื่องร้องเรียนที่ยุติเรื่องแล้ว 148,630 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 99.13 และรอผลการดำเนินงานจากหน่วยงาน 1,307 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 0.87

นายธีรภัทร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มีการแจ้งเบาะแส และแจ้งเหตุต่างๆ เช่น การจัดกิจกรรมที่ส่งผลกระทบ ทั้งการรวมกลุ่มจัดกิจกรรมสังสรรค์ ประชาชนรวมตัวรับสิ่งของบริจาค ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อ การแจ้งเบาะแสการลักลอบเล่นพนัน การเปิดร้านจำหน่ายสุรา เป็นต้น

รวมถึง มีข้อเสนอแนะจากประชาชนถึงรัฐบาล เกี่ยวกับการกำหนดมาตรการป้องกัน การเยียวยา และการให้ความช่วยเหลือประชาชน เช่น การช่วยเหลือแรงงาน ปรับลดค่าบำรุงการศึกษา พักชำระหนี้จากสถาบันการเงิน การช่วยเหลือผู้พิการ การป้องกันแพร่ระบาดในเรือนจำ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงว่า ผลการปฏิบัติงานช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 19 เม.ย.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 20 เม.ย. มีผู้ฝ่าฝืน ออกนอกเคหสถาน 660 คน ลดลงจากคืนก่อน 14 ราย ชุมนุม มั่วสุม 86 คน เพิ่มขึ้นจากคืนก่อน 18 คน พฤติกรรมยังซ้ำๆ เดิมๆ “ขอให้ท่านร่วมมือ อย่าให้มีตัวเลขเพิ่มขึ้น เพราะมาตรการเหล่านี้เป็นเครื่องการันตีว่าถ้าไม่ชุมนุมก็ไม่จะติดโรค มีความสำคัญเชื่อมโยงกัน ตัวเลขก็จะลดลงเรื่อย ๆ”

ส่วน 10 จังหวัดที่มีผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวมากสุด ได้แก่ ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ กทม. นครราชสีมา ชลบุรี ราชบุรี สระบุรี สงขลา เชียงใหม่ และมี 8 จังหวัดที่ไม่มีผู้ฝ่าฝืนเลย ได้แก่ แม่ฮ่องสอน สิงห์บุรี พิจิตร สกลนคร ศรีสะเกษ อุทัยธานี บุรีรัมย์ และอ่างทอง

ทั้งนี้ ยอมรับว่าตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ที่ลดลงต่อเนื่อง ทำให้หลายบริษัทเริ่มให้พนักงานกลับมาทำงานจะเสี่ยงติดโควิด-19 จะมีความเสี่ยงแน่นอน เพราะตอนนี้โรคยังไม่ได้หายไปจากโลกนี้ โรคยังคงวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวเรา เป็นเชื้อโรคที่เรามองไม่เห็น อาจอยู่ในพี่น้องเราเอง ซึ่งเขาอาจไม่ได้แสดงอาการ แต่เราต้องป้องกันตัวเอง มันกระจายทั่วทั้งโลก ตัวเลขยังเป็นสีแดง ส่วนไทยเราซีลตัวเองไว้ ไม่ให้คนติดเชื้อเดินทางมาประเทศเรา

ส่วนที่ประเทศอื่นผ่อนคลาย เพราะเขามีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเรื่องความเสรี จึงเสียชีวิตหลักหมื่น เราก็ชอบเสรี แต่สภาวะแบบนี้ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่เราเสียไปคือเสรี เรื่องสุขภาพต้องมาก่อนเราจึงมีชีวิตได้เห็นคนที่เรารัก เราพยายามคุมในทุกๆ ประเด็น การออกมาจำนวนมากพร้อมๆ กัน จะเหลื่อมเวลากันได้หรือไม่ เช่น 75% ทำงานที่บ้าน อีก 25% ทำงานที่ทำงาน หมุนเวียนกันไป เป็นหลักการที่เราต้องไม่ย่อหย่อน เพราะต้องอยู่กับโรคนี้อีกนาน เชื่อว่าเราคุมได้