จ่อหั่นเป้ากำไรกลุ่มสื่อสาร หวั่นกสทช.จี้ลดค่าบริการ

จ่อหั่นเป้ากำไรกลุ่มสื่อสาร หวั่นกสทช.จี้ลดค่าบริการ

หุ้นสื่อสารเผชิญแรงกดดัน หลังกสทช.เรียกผู้ประกอบการถกมาตรการช่วยเหลือประชาชน จ่อเจรจาให้ลดค่าบริการ 10-30% ด้านโบรกเกอร์ หวั่นสร้างแรงกดดันต่อราคาหุ้นในกลุ่ม ADVANC-DTAC-TRUE ประเมินเบื้องต้นคาดฉุดกำไรกลุ่มลดลง 2.1 พันล้านบาท

ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อหลายอุตสาหกรรม แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งในต่างประเทศและในไทยจะเริ่มชะลอตัวลง แต่มาตรการภาครัฐที่ออกมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้ลุกลามก่อนหน้านี้ยังไม่มีการผ่อนปรนเกณฑ์ลงและยังคงเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สะดุดลงชั่วคราวมานานนับเดือนแล้วและเชื่อว่าคงส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

ทั้งนี้กลุ่มสื่อสารก็ถือเป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย หลังล่าสุดจากมีกระแสข่าวว่าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เรียกผู้ประกอบการมือถือเจ้าหลักมาหารือเรื่องมาตรการให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายโทรคมนาคมแก่ประชาชนในอัตรา 10-30% ซึ่งคาดว่าจะสร้างแรงกดดันต่อราคาหุ้นในกลุ่มสื่อสารหลังจากนี้ จากเดิมที่หลายคนมองว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างน้อยและยังได้รับอานิสงส์จากการทำงานที่บ้านหรือ Work from Home

ขณะที่พบความเคลื่อนไหวราคาหุ้นในกลุ่มฯ ณ เวลา 16.05 . นำโดย บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 190.50 บาท ลดลง 1.00 บาท หรือ 0.52% มูลค่าการซื้อขาย 882 ล้านบาท, บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 38.75 บาท ลดลง 0.75 บาท หรือ 1.90% มูลค่าการซื้อขาย 339 ล้านบาท และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 3.36 บาท ลดลง 0.04 บาท หรือ 1.18% มูลค่าการซื้อขาย 302 ล้านบาท

ด้านนักวิเคราะห์กลุ่มสื่อสาร “สุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส จำกัด ประเมินว่าบทสรุปมาตรการช่วยเหลือไม่น่าจะออกมาในรูปแบบให้ส่วนลดในอัตราสูงตามกระแสข่าว เพราะหากพิจารณาจากอันดับแรกคือ 1.ฐานค่าบริการโทรคมนาคมของไทยปัจจุบันค่อนข้างถูกมากอยู่แล้ว โดยหากเปรียบเทียบในอาเซียนพบว่าอัตราค่าโทรและค่าอินเตอร์เน็ตของไทยถูกเป็นลำดับที่ 2 และลำดับที่ 4 ในอาเซียน และ2.แนวทางรัฐฯในการปรับลดต้นทุนค่าสาธารณูปโภคอื่นๆก็ไม่ได้ปรับลดลงมาก เช่น ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำปรับลดลง 3% และให้ส่วนลดระยะสั้นเฉพาะช่วงไตรมาส 2/2563

ขณะที่ในเบื้องต้นฝ่ายวิจัยได้ทำการศึกษาผลกระทบความอ่อนไหวของรายได้ค่าบริการเฉลี่ยต่อเลขหมายต่อกำไรกลุ่มและมูลค่าพื้นฐาน พบว่าทุกๆ ARPU (รายได้เฉลี่ยของผู้ให้บริการต่อลูกค้าหนึ่งคน) ปี 2563 ที่ลดลง 1% จากสมมติฐานปัจจุบัน จะกระทบกำไรกลุ่มสื่อสารลดลงจากปัจจุบันราว 2.1 พันล้านบาท หรือ -3.9% ของกำไรที่คาดการณ์ไว้ปีนี้ 53,008 ล้านบาท

โดยในส่วนของกำไรสุทธิของ ADVANC,DTAC จะลดลงราว 2.5% และ 8.7% ตามลำดับ ส่วน TRUE คาดว่าขาดทุนเพิ่มขึ้น 51% และจะกระทบมูลค่าที่เหมาะสม (Fair Value) ของหุ้น ADVANC ราว 1 บาท จากมูลค่าพื้นฐานที่ 248 บาท , DTAC ราว 0.5 บาท จากมูลค่าพื้นฐานที่ 43 บาท และ TRUE ราว 0.1 บาท จากมูลค่าพื้นฐานที่ 3.8 บาท

ขณะที่ในกรณีเลวร้ายหากต้องปรับลดค่าบริการลง 30% ตามกระแสข่าวจริง ภายใต้สมมติฐานกินระยะเวลา 3 เดือน ประเมินจะเท่ากับ ARPU เฉลี่ยทั้งปีที่ลดลงจาประมาณการราว 7.5% ซึ่งกรณีดังกล่าวคาดจะกระทบกำไรกลุ่ม 1.6 หมื่นล้านบาท หรือ -29.3% ของกำไรที่คาดการณ์ไว้ และกระทบกำไร ADVANC ลดลง 18.8%, DTAC ลดลง 65% และขาดทุน TRUE เพิ่มขึ้น 382% ส่วนมูลค่าหุ้นจะกระทบ 7.5, 3.75 และ 0.75 บาทตามลำดับ

อย่างไรก็ตามในกรณีหุ้นปรับตัวลดลงในระดับดังกล่าวเชื่อว่าเป็นจุดที่ควรเข้าสะสม เพราะมุมมองคาดว่าการปรับลดจะไม่สูงเช่นเดียวกับสาธารณูปโภคอื่นๆที่มีมาตรการออกมาแล้ว โดยสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงเชื่อว่าหากหุ้นปรับตัวลงแรงเป็นโอกาสทยอยสะสม ภายใต้จุดเด่นผลกระทบจากโควิด-19 ที่จำกัดกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเลือก INTUCH และ ADVANC เป็นหุ้นที่โดดเด่นสุดในกลุ่ม ขณะที่สามารถเก็งกำไร DTAC ได้หากราคาลดลงต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานจนมีอัพไซด์เปิดได้ ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำให้รอความชัดเจนการเจรจาก่อนเข้าลงทุน