'สภาเกษตรกร' ชง สศช. จ่าย 5 พัน 3 เดือน อุ้มชาวไร่ชาวนา

'สภาเกษตรกร' ชง สศช. จ่าย 5 พัน 3 เดือน อุ้มชาวไร่ชาวนา

สภาเกษตรกร เล็งยื่น สศช.เคาะ 3 มาตรการ ช่วยเกษตรกร รับเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน เท่ากลุ่มอาชีพอื่น พร้อมพักหนี้ 6 เดือน ตั้งกองทุน 5 หมื่นล้านฟื้นอาชีพเกษตรยั่งยืน

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในขณะนี้อยู่ระหว่างร่างข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากผลกระทบโรคโควิด 19 ระบาด เพื่อเสนอ

คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน

สำหรับข้อเสนอแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1.มาตรการทันที เกษตรกรควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเสมอภาคเมื่อเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ นั่นคือรัฐบาลต้องจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อคน นาน 3 เดือน เนื่องจากเกษตรกรไม่มีช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตรจากการปิดตลาดนัด การขนส่งลำบาก เครื่องบินหยุดไม่สามารถส่งออกสินค้าเกษตรบางประเภทได้

2.มาตรการระยะสั้น รัฐบาลต้องช่วยเหลือด้านหนี้สินของเกษตรกร โดยต้องพักหนี้และพักดอกเบื้ออย่างน้อย 6 เดือน พร้อมปรับโครงสร้างหนี้ ยืดระยะเวลาผ่อนชำระยาวขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลต้องสนับสนุนด้านเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงาน ปรับโครงสร้างพื้นฐานอื่นเพื่อให้เกษตรกรผลิตสินค้าได้แม่ยำ มีคุณภาพมาตรฐานสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น

รวมทั้งมีช่องทางการจำหน่ายที่ชัดเจน โดยต้องสนับสนุนการขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น และใช้ไปรษณีย์เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงตลาดในประเทศและส่งออก เพื่อให้สินค้าที่ผลิตได้ไม่เกิดปัญหาล้นตลาดหรือขายต่ำกว่าทุน

3.มาตรการระยะยาว รัฐบาลควรตั้งกองทุนปรังปรุงการผลิตสินค้าเกษตร โดยใช้เงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท และรัฐบาลสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้เกษตรกรรับภาระจ่ายได้ไม่เกิน 1% เป็นเวลา 5 ปี

กองทุนนี้จะใช้เป็นเงินก้อนสุดท้ายในการช่วยเหลือเกษตรกร ด้านการลงทุน หลังจากนี้แล้วรัฐบาลไม่ต้องช่วยเหลือใดอีก ยกเว้นจะเกิดปัญหาภัยธรรมชาติที่เลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่เกษตรกรต้องปรับปรุงตนเองเพื่อให้อยู่ได้ 

สำหรับเงินทุนดังกล่าวขณะนี้ ธ.ก.ส.มีพร้อมแล้ว แต่การปล่อยกู้ยังติดเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งรัฐบาลต้องผ่อนปรนให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากเงินดังกล่าวได้ ซึ่ง ธ.ก.ส.กำหนดให้เกษตรกรที่สนใจต้องร่างแผนธุรกิจเสนอให้พิจารณา โดยรัฐบาลต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปแนะนำและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ พร้อมดูแลตลอดระยะเวลาที่ดำเนินโครงการเพื่อให้สัมฤทธิ์ผล

ทั้งนี้ ในฤดูกาลเพาะปลูกที่จะถึงนี้อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับภัยแล้ง เพราะพื้นที่เกษตรบางแห่งอาจเพาะปลูกไม่ได้ ในขณะที่เกษตรกรต้องใช้วิกฤติเป็นโอกาสรับฟังข้อมูลรอบด้าน เพื่อปรับไปทำกิจกรรมเกษตรอย่างอื่นที่เหมาะสมกับสถานการณ์​ ให้ถือเป็นโอกาสระยะยาวที่เกษตรกรจะช่วยกันค้นหาศักยภาพของตนและของชุมชน​

รวมทั้งขอให้เกษตรกรสำรวจดูวิกฤติครั้งนี้กระทบการดำเนินชีวิตในการเป็นเกษตรกรหรือไม่​ หากคำตอบคือเกิดผลกระทบนั่นเท่ากับว่าเราจะต้องมีการสร้างการผลิตแบบยั่งยืนให้ได้​ อาจจะด้วยการปรับการผลิตให้หลากหลาย​เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้ต่อรองทางการตลาด และ​ปรับจากการผลิตแค่วัตถุดิบเป็นแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์​ ซึ่งสภาเกษตรกรแห่งชาติจะช่วยประสานความช่วยเหลือ