‘วีรพงษ์-ปรีดิยาธร’ มองต่าง ปมธปท.อุ้ม‘หุ้นกู้’เอกชน

‘วีรพงษ์-ปรีดิยาธร’ มองต่าง ปมธปท.อุ้ม‘หุ้นกู้’เอกชน

"วีรพงษ์" ค้าน "แบงก์ชาติ" อุ้มหุ้นกู้เอกชน ห่วงขัดหลักการความเป็นธนาคารกลาง ด้าน "ปรีดิยาธร" ยัน ธปท. เข้าซื้อเพื่อดึงความเชื่อมั่นตลาด ย้ำหากปล่อยไว้ตลาดพังกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจได้ ด้าน “ณรงค์ชัย” มั่นใจช่วยป้องกันปัญหา “ดีฟอลท์ แพนิก”

การจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน(Corporate Bond Stabilization Fund หรือ BSF) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือ “หุ้นกู้” ถือเป็นมาตรการที่มี “ข้อถกเถียง” มากสุดในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งบางกลุ่มมองว่า เป็นการทำหน้าที่ซึ่งขัดต่อหลักการเป็นธนาคารกลางที่ดี ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์อีกกลุ่ม ระบุว่า การทำหน้าที่ดังกล่าวถือว่าเหมาะสมเพราะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับตลาดการเงิน ดีกว่าปล่อยให้ลุกลามซึ่งการแก้ปัญหาจะมีความยากมากขึ้น 

นายวีรพงษ์ รางมางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลขอให้ ธปท. ยุติการดำเนินการเรื่องการใช้วงเงิน 4 แสนล้านบาท เข้าไปรับซื้อหุ้นกู้เอกชน เพราะขัดต่อหลักการของธนาคารกลาง พร้อมเสนอว่าหากจะดำเนินการ ควรโอนให้ธนาคารของรัฐทำจะมีความเหมาะสมกว่า

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุน BSF ของ ธปท. ที่ออกมาถือเป็นผลดีต่อระบบการเงินและตลาดหุ้นกู้ เพราะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนได้อย่างมาก ซึ่งปัจจุบันหุ้นกู้ถือเป็นตลาดค่อนข้างใหญ่ มีสัดส่วนต่อจีดีพีสูงถึง 20% หากเกิดปัญหาขึ้นมาจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ การจัดตั้งกองทุนลักษณะนี้จึงถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดเงิน 

“เรื่องการธนาคารกลางเป็นเรื่องจิตวิทยา เขาก็ต้องออกมาสร้างความมั่นใจ เพราะเสถียรภาพระบบการเงินถือว่ามีความสำคัญ สมัยก่อนหุ้นกู้ยังมีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาล เป็นเรื่องของตลาดหุ้น แต่หลังๆ หุ้นกู้ ออกมาเยอะกลายเป็นตลาดที่มีความสำคัญ จึงต้องการคนดูแล ดังนั้นก็ต้องทำให้ตลาดมีเสถียรภาพ เมื่อตลาดมีเสถียรภาพ คนมีความมั่นใจ เขาก็จะกล้าลงทุนตามเดิม”

**ชี้กองBSFช่วยดึงความเชื่อมั่นตลาด

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวด้วยว่า การที่ ธปท. ออกมาสร้างความมั่นใจให้กับตลาดผ่านการตั้งกองทุนในลักษณะนี้ อาจทำให้ ธปท. ไม่ต้องใช้เงินในการเข้าไปซื้อหุ้นกู้ด้วยซ้ำ เพราะเมื่อตลาดมีความมั่นใจว่ามีคนดูแลเขาอยู่ เขาก็กล้าที่จะลงทุน เมื่อมีคนลงทุน ธปท. ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปรับซื้อ

ส่วนกรณีที่มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวของ ธปท. นั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า เท่าที่ติดตามความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ เขาก็ไม่ได้คัดค้านการจัดตั้งกองทุน BSF เพียงแต่มองว่า การที่ ธปท. เข้าไปรับซื้อเองอาจไม่เหมาะสม แต่เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่า ธปท. เองก็ได้ลองจัดตั้งกองทุนลักษณะนี้โดยให้ธนาคารรัฐเข้ามาเป็นผู้รับซื้อแล้ว เพียงแต่ตลาดการเงินยังไม่มีความมั่นใจเท่าไรนัก แตกต่างจาก ธปท. ที่เข้ามาดูแลเอง ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้กับตลาดการเงินได้มากกว่า 

“ถ้าบอกว่ากลัว แบงก์ชาติ เลือกที่รักมักที่ชังในการเข้าไปรับซื้อหุ้นกู้ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ต้องบอกว่าหากเป็น กรุงไทย ทำอาจจะเลือกที่รักมักที่ชังมากกว่า เพราะด้วยความที่เป็นธนาคารของรัฐ อยู่ในมือของนักการเมืองซึ่งมีอิทธิพล แต่ถ้าเป็น แบงก์ชาติ นักการเมืองเข้ามามีอิทธิพลไม่ได้ เรื่องการเลือกที่รักมักที่ชังจึงหายห่วงได้เลย”

**‘ณรงค์ชัย’ระบุช่วยป้องดีฟอลท์แพนิก

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กล่าวว่า การออกมาตราการดูแลสภาพคล่องในระบบการเงิน ในตลาดตราสารหนี้ถือว่าเป็นมาตรการที่ดี เพราะช่วยสร้างความเชื่อมั่นทำให้นักลงทุนมั่นใจว่าหุ้นกู้เหล่านี้จะไม่เกิดการผิดนัดชำระหนี้(Default) โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่เรตติ้งดี ที่ต้องเร่งเข้าไปดูแล เพราะหากปล่อยให้หุ้นกู้เกรดดี เกิด Default จะยิ่งทำให้ตลาดเกิดความกังวลนำไปสู่ปัญหาเสถียรภาพระบบการเงิน จนเกิดเหตุการณ์เหมือนในอดีตที่คนมารีบไถ่ถอนเงินได้ ดังนั้นเป้าหมายหลักของ BSF ก็เพื่อไม่ทำให้หุ้นกู้ดีๆ เกิด Default

“สิ่งสำคัญสุดคือ อย่าให้เกิด default จนคนแพนิก ยิ่งถ้าเกิดในหุ้นกู้เรทติ้งดีๆ คนจะยิ่งสงสัยในระบบการเงินของเราว่าโอเคหรือไม่ ซึ่งก็จะซ้ำรอยปี 2540 ที่คนแห่มาถอนเงิน จะปล่อยให้ลากไปสู่จุดนั้นไม่ได้ จะปล่อยให้เกิดสภาพคล่องแพนิกไม่ได้ เพราะจะยิ่งกว่าไวรัสแพนิก มันจะลามไปที่สภาพคล่องสถาบันการเงิน จึงต้องบล็อกให้ดี”

นายณรงค์ชัย กล่าวว่า การเข้าไปดูแลสภาพคล่องในตลาดตราสารนี้ครั้งนี้ ถือว่าเป็นมาตราการที่ถูกต้อง เพราะช่วยไม่ให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่อง ช่วยหยุดความตื่นตระหนก หยุดแพนิก ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ได้ทำเพื่อช่วยคนรวย แต่เป็นการช่วยประคองทั้งระบบ

"ถือเป็นมาตรการที่ดี เพราะประเทศไทยต้องมีเสนาธิการ มีเลขาธิการด้านเศรษฐกิจ ซึ่งแบงก์ชาติได้ทำหน้าที่เป็นเหมือนเลขาธิการด้านแมคโคร ก็ถือเป็นสิ่งดี ส่วนมาตรการที่ออกมา ก็คงต้องยอมรับว่ามีลักษณะเดียวกับ คิวอี เหมือนที่หลายๆ ประเทศทำ เช่น บีโอเจ(ธนาคารกลางญี่ปุ่น) เฟด(ธนาคารกลางสหรัฐ) ซึ่งเขาก็เข้าไปซื้อหุ้นกู้เอกชน ถือเป็นการดำเนินนโยบายการเงินนอกกรอบครั้งแรกของ ธปท. ที่เข้าไปเป็นผู้เล่นในตลาดแรก"

**ธปท.ย้ำป้องปัญหาการเงินลุกลาม

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การออกมาตรการในครั้งนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินเพราะตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีขนาดถึง 3.6 ล้านล้านบาท หรือ กว่า 20% ของ GDP เป็นแหล่งระดมเงินทุนและแหล่งลงทุนที่สำคัญ ถ้าตลาดการเงินส่วนใดส่วนหนึ่งมีปัญหา ก็อาจกระทบเป็นลูกโซ่ไปสู่ระบบการเงินโดยรวมและภาคเศรษฐกิจจริง

นอกจากนี้ การรอให้เกิดปัญหาขึ้นก่อนแล้วจึงเข้าไปแก้ไขย่อมมีต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจการเงินสูงกว่าการเข้าไปดูแลก่อนที่ปัญหาจะลุกลาม จึงต้องเตรียมเครื่องมือไว้ล่วงหน้า และการตัดสินใจที่ต้องการความรวดเร็วเร่งด่วนอาจจะทำให้ไม่สามารถพึ่งพากลไกการทำงานของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมีพันธกิจอื่นอยู่แล้ว ในขณะที่ผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชน ก็มักจะไม่ใช่ลูกค้าที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมีความคุ้นเคยอยู่เดิม

 การออกพระราชกำหนดฯ(พ.ร.ก.) ให้อำนาจ ธปท. ดำเนินการเรื่องการสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund หรือ BSF)ไม่ได้เป็นการแก้กฎหมาย ธปท. แต่เป็นการให้อำนาจการดำเนินการชั่วคราวแก่ ธปท. ในการเข้าไปดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดย พ.ร.ก. มีอายุ 5 ปี และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการที่วางใน พ.ร.บ. ธปท. 2551 แต่ประการใด

**ลั่นยึดมั่นในหลักธนาคารกลาง

ความกังวลเรื่องการแทรกแซงการทำงานของ ธปท. เรื่องความเสี่ยงที่จะถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจ หรือแม้กระทั่งไม่มั่นใจในความชำนาญของพนักงาน ธปท. ล้วนเป็นประเด็นที่ ธปท. คำนึงถึงและระมัดระวังมากที่สุด ในการวางแนวทางการทำงานของกองทุน BSF จึงจัดโครงสร้างการกำกับดูแล กระบวนการทำงานและการบริหารความเสี่ยงกองทุน BSF อย่างรอบคอบ รัดกุม และโปร่งใส โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ธนาคารพาณิชย์ และผู้เชี่ยวชาญอิสระ รวมทั้งการใช้มืออาชีพมาร่วมบริหารจัดการกองทุน โดยธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในฐานะผู้ลงทุนในตราสารหนี้เอกชนด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญ ธปท. ยังคงยึดหลักการของการเป็นผู้ให้สภาพคล่องแหล่งสุดท้าย (last resort) ที่ให้กู้แก่บริษัทที่มีผลดำเนินธุรกิจดีต่อเนื่อง (viable) เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองระยะสั้น โดยบริษัทต้องมีแผนระดมทุนในระยะยาว และมีธนาคารพาณิชย์เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินความเป็นไปได้ของธุรกิจและร่วมปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยผู้ออกหุ้นกู้จะต้องจัดการระดมทุนในตลาด หรือจากระบบสถาบันการเงินมาให้เป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะมาขอสภาพคล่องจากกองทุน BSF ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าตลาด โดย BSF จะมีแนวทางที่ชัดเจนหากบริษัทผู้ออกถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating downgrade) ในภายหลัง