'กรุงเทพฯ' เสียหายทางสุขภาพ-เศรษฐกิจจากมลพิษทางอากาศมากสุด 

'กรุงเทพฯ' เสียหายทางสุขภาพ-เศรษฐกิจจากมลพิษทางอากาศมากสุด 

"กรีนพีซ" ระบุปี 2562 "กรุงเทพฯ" เสียหายทางสุขภาพ และเศรษฐกิจจากมลพิษทางอากาศมากที่สุดในประเทศไทย

รายงานจากกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ IQAir AirVisual ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2562 ใน 6 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรสาคร ขอนแก่น และระยอง พบว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ได้รับความเสียหายทางสุขภาพและเศรษฐกิจจากมลพิษทางอากาศมากที่สุดในประเทศไทย โดยคิดเป็นมูลค่าโดยประมาณ 5,965,271,220  เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 194,932 ล้านบาท) และเพื่อติดตามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2563 นี้ กรีนพีซ ประเทศไทย สร้างป้ายแสดงผลตัวเลขตามเวลาจริง (Real-time counter) ออนไลน์ โดยใช้ข้อมูลคุณภาพอากาศตามเวลาจริงจาก IQAir AirVisual  เพื่อนำเสนอผลกระทบจากมลพิษทางอากาศนับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา

สำหรับป้ายแสดงผลตัวเลขตามเวลาจริงนี้ใช้อัลกอริทึ่ม และข้อมูลคุณภาพอากาศระดับพื้นดินแบบรายชั่วโมงจากฐานข้อมูลเครื่องวัดคุณภาพอากาศ IQAir AirVisual ร่วมกับแบบจำลองความเสี่ยงทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงข้อมูลประชากรและสุขภาพ เพื่อคำนวณและคาดการณ์ต้นทุนผลกระทบของมลพิษทางอากาศ ทั้งจากฝุ่นพิษ PM2.5 และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ใน 6 จังหวัดของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 สามารถดูได้ที่ https://act.greenpeace.org/page/49928/petition/1?locale=en-GB

จากการคำนวณตามระเบียบวิธีข้างต้น นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จนถึงปัจจุบัน(9 เมษายน 2563) ในจำนวน 6 จังหวัดของประเทศไทย กรุงเทพมหานครมีมูลค่าความเสียหายทางสุขภาพและเศรษฐกิจ จากมลพิษทางอากาศมากที่สุดคิดเป็น 1,954,589,590 เหรียญสหรัฐและอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 5,054 คน รองลงไปคือเชียงใหม่ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายที่ 413,268,885 เหรียญสหรัฐ และมีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 1,070 คนโดยประมาณ

วริษา สี่หิรัญวงศ์ หัวหน้าโครงการขออากาศดีคืนมา กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “ป้ายแสดงผลนี้จะทำให้เราเข้าใจถึงผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนและเศรษฐกิจของเมืองจากมลพิษทางอากาศได้อย่างทันท่วงทีและชัดเจนขึ้นในช่วงเวลาและเหตุการณ์ต่างๆ”

นอกจากนี้ งานวิจัยพบความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศกับการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจบางชนิด โดยกลุ่มคนที่ต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศนั้นเพิ่มโอกาสที่จะติดไวรัสในระบบทางเดินหายใจและเพิ่มความรุนแรงของอาการได้ เนื่องจากมลพิษทางอากาศสามารถสร้างความเสียหายต่อระบบทางเดินหายใจและอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายไว้เป็นทุนเดิม เมื่อติดเชื้อจึงมีแนวโน้มที่อาการจะรุนแรงและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากขึ้น”

“ในช่วงวิกฤต Covid-19 รัฐบาลต้องไม่ละเลยในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ (Public Policy)ที่มีความสำคัญ นั่นคือ การยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศและการป้องกันมลพิษทางอากาศที่แหล่งกำเนิดที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันให้กับคนในสังคม อากาศดีคือ รากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” วริษา กล่าวเสริม