สพฐ.หวั่นรับนักเรียนม.1และม.4 หนีโควิด-19

สพฐ.หวั่นรับนักเรียนม.1และม.4 หนีโควิด-19

สพฐ.หวั่นรับนักเรียนม.1 และม.4 หนีโควิด-19 มีปัญหา ระบุหากจัดสอบออนไลน์เกิดความไม่เท่าเทียม และเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ส่วนเรื่องการเรียนออนไลน์ ฝากผู้ปกครองไม่ต้องกังวล เตรียมความพร้อมทุกด้านไว้แล้ว ด้านรมว.ศธ.ลงนามเลื่อนเปิดเทอมถึง 1 ก.ค.นี้

วันนี้ (9 เม.ย.2563) ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็วๆนี้นั้น ที่ประชุมได้หารือถึงการเตรียมความพร้อมการจัดการศึกษาออนไลน์ ซึ่ง สพฐ.ไม่อยากให้ผู้ปกครองมีความกังวลใจ เนื่องจากเราต้องประกาศขั้นตอนของกาเลื่อนเปิดภาคเรียนว่ามีอะไรบ้าง

โดยเฉพาะการจัดทำปฎิทินเปิดภาคเรียนจากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 15 พ.ค.เป็น วันที่ 1 ก.ค.ซึ่งมีกำหนดการเปิดภาคเรียนมีระยะเวลา 4 เดือน ดังนั้นเมื่อเลื่อนเปิดภาคเรียนมาเป็นวันที่ 1 ก.ค.จะครบกำหนดการเปิดเรียนวันที่ 30 พ.ย. โดยจะไม่มีการปิดภาคเรียนที่ 1 ในเดือนต.ค. และเริ่มเรียนภาคเรียนที่ 2 ในวันที่ 2 ธ.ค.ไปจนถึง 30 เม.ย.64 

ทั้งนี้ หากโรงเรียนใดอยากให้เด็กมีเวลาได้หยุดพักก็สามารถบริหารจัดการจัดวันหยุดเรียนและสอนชดเชยในวันเสาร์และอาทิตย์ได้ แต่ทั้งนี้จะต้องยึดการเรียนการสอนให้ครบตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ซึ่งเร็วๆนี้สพฐ.จะประกาศปฎิทินเรื่องการเปิดภาคเรียนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับทราบต่อไป

นอกจากนี้ สพฐ.จะประชุมร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เรื่องการจัดทดสอบต่างๆไม่ว่าจะเป็นการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) การทดสอบความถนัดทั่วไป (แกต) และความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (แพต) การทดสอบวิชาสามัญ 9 วิชา โดยการทดสอบเหล่านี้จะมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง 

อย่างไรก็ตาม เรื่องการจัดการศึกษาออนไลน์ขอให้ผู้ปกครองไม่ต้องกังวล เพราะสพฐ.ได้เตรียมความพร้อมด้านต่างๆไว้หมดแล้ว ซึ่งขอให้เข้าใจด้วยว่า ศธ.จำเป็นที่จะต้องปรับระบบการเรียนใหม่ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19ที่ยังไม่พ้นวิกฤต  เพราะเราไม่อยากให้เด็กเกิดช่องว่างในการเรียนรู้ ดังนั้นขอความรู้ร่วมมือพ่อแม่ผู้ปกครองเปลี่ยนบทบาทเป็นครู เปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงเรียนด้วย

ดร.อำนาจ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ ม.4 นั้น กำหนดการรับสมัครผ่านระบบออนไลน์ในวันที่ 3-12 พ.ค. โดยปัญหาการรับนักเรียนที่สพฐ.มีความกังวลในขณะนี้ คือ  มีโรงเรียนจำนวนหนึ่งที่มีผู้สมัครเข้าเรียนพอดีกับจำนวนแผนรับนักเรียน และโรงเรียนบางแห่งก็มีผู้สมัครจำนวนน้อยกว่าแผนรับนักเรียนที่รับได้ ซึ่งโรงเรียนกลุ่มนี้สามารถจัดห้องเรียนได้ทันทีโดยไม่ต้องสอบเข้า

ขณะที่โรงเรียนประมาณ 100 กว่าแห่งและเป็นโรงเรียนดังที่มีศักยภาพสูง ซึ่งโรงเรียนกลุ่มนี้ ยังกังวลว่าหากให้มีการจัดสอบออนไลน์จะเกิดความไม่เท่าเทียม และเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบเกิดขึ้น

ดังนั้น ในกลุ่มโรงเรียนจำนวนนี้ สพฐ.คิดว่าจะรอประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสอีกครั้ง หากสถานการณ์คลี่คลายลงอาจจะต้องกำหนดวัดจัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการสอบ  ซึ่งจะต้องเข้มงวดเรื่องมาตรการป้องกันไวรัสโควิดด้วย เช่น จัดสถานที่สอบให้ห่างกัน 2 เมตร social distancing และสวมหน้ากากอนามัยในการสอบ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 9 เมษายน 2563 เรื่อง การเปิดเรียนของสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ

โดยให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยให้สถานศึกษาจัดให้มีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสืบเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ด้วย

ทั้งนี้ โรงเรียนเอกชนประเภทนานาชาติ ซึ่งมีกำหนดวันเปิดและปิดภาคเรียนไม่ตรงกับโรงเรียนในระบบ ให้โรงเรียนพิจารณาเปิดเรียนได้ทันทีตามความเหมาะสม แต่ต้องกำหนดรูปแบบและวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับข้อกำหนดที่ออกตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของแต่ละพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่