'3 มาตรการ' ดับไฟ ก่อน 'ตลาดบอนด์' ลุกลาม

'3 มาตรการ' ดับไฟ ก่อน 'ตลาดบอนด์' ลุกลาม

การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความกังวลให้ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ล่าสุด ธปท.ปรับลดดอกเบี้ยลงแบบฉุกเฉินเหลือ 0.75% และจัดประชุมเร่งด่วนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมออก 3 มาตรการ เพื่อความเรียบร้อยของตลาดดังกล่าว ไม่ให้สถานการณ์บานปลายไปมากกว่านี้

นับเป็นครั้งแรกที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงแบบ “ฉุกเฉิน” โดยเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา กนง. จัดประชุมนัดพิเศษเพื่อรับฟังข้อมูลและสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ในระยะข้างหน้า มีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม รวมทั้งยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย ที่ประชุมจึงมีมติเอกฉันท์ให้ “ลด” ดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% สู่ระดับ 0.75% เป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นว่า การระบาดที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลให้กับ “ตลาดเงิน” และ “ตลาดทุน” ทั่วโลก โดยที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อ “สภาพคล่อง” และ “กลไก” การทำงานของตลาดเงินไทย แม้ว่าระบบการเงินไทยโดยรวมจะยังมีเสถียรภาพที่ดีก็ตาม ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่า ดอกเบี้ยที่ลดลง จะช่วยลดภาระของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ และช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงินได้ รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ออกมาและเตรียมจะออกมาเพิ่มเติมในระยะข้างหน้าด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ ธปท. ยังร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในการรับมือกับปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นในตลาดการเงิน เพราะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดเงิน โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ขาดสภาพคล่องรุนแรง มีแต่คนขาย ไม่มีคนซื้อ ทำให้ ธปท. ต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบ เพียงแต่ราคาพันธบัตรที่ปรับลดลง ส่งผลกระทบต่อมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ที่ลดตามไปด้วย ทำให้คนที่ถือหน่วยลงทุนเริ่มวิตกกังวล พากันมาไถ่ถอนหน่วยลงทุนเหล่านี้จำนวนมาก ถึงขั้นที่ บลจ. บางแห่ง ต้องเลื่อนระยะเวลาการชำระเงินคืนเป็น T+5 

ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องจัดประชุมเร่งด่วนเพื่อรับมือสถานการณ์ดังกล่าว ล่าสุดวานนี้ (22 มี.ค.) ธปท. ประกาศ “3 มาตรการ” ในการดูแลความเรียบร้อยของตลาดดังกล่าวเพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้ โดยมาตรการแรก อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด โดยที่กองทุนเหล่านี้ต้องถือสินทรัพย์คุณภาพดี และสามารถนำหน่วยลงทุนเหล่านี้มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับทาง ธปท. เพื่อขอสภาพคล่องได้ ซึ่ง ธปท. ตั้งวงเงินส่วนนี้ไว้ถึง 1 ล้านล้านบาท 

นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ในตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นสมาคมธนาคารพาณิชย์ สมาคมประกันภัย ธนาคารออมสิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ร่วมกันลงขันเกือบ 1 แสนล้านบาท ไว้สำหรับเข้าลงทุนในหุ้นกู้ที่มีคุณภาพดี และต้องการโรโอเวอร์ ซึ่งกรณีที่โรโอเวอร์แล้วขายไม่หมด กองทุนนี้จะ “รับซื้อ” ในส่วนที่เหลือ ขณะเดียวกัน ธปท. ประกาศความพร้อมที่จะเข้าดูแลตลาดบอนด์ เพื่อให้มีสภาพคล่องการซื้อขายที่เพียงพอเหมาะสม ซึ่งมาตรการที่ออกมาทั้งหมด นับเป็นมาตรการที่ออกมา “ดับไฟ” ในภาวะที่ตลาดบอนด์กำลังลุกลาม