'แบงก์' งัดแผนฉุกเฉินสู้ 'โควิด' ระบาดหนัก กันธุรกรรมการเงิน 'ชะงัก'

'แบงก์' งัดแผนฉุกเฉินสู้ 'โควิด' ระบาดหนัก กันธุรกรรมการเงิน 'ชะงัก'

ธปท.นัดถก “สมาคมธนาคาร” 2รอบวันนี้ วางแผนระบบจัดการเงินสด และระบบชำระเงิน รองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน หากโควิด -19 ระบาดหนัก   ด้าน “แบงก์พาณิชย์”เตรียมพร้อมแผนฉุกเฉิน  แยกทีมไอทีเป็น2 กลุ่ม เพิ่มขีดความสามารถธุรกรรมออนไลน์   เพิ่มทีมคอลล์เซ็นเตอร์

แหล่งข่าวจากวงการการเงิน  เปิดเผยว่า  วันนี้ (20 มี.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) นัดหารือกับสมาคมธนาคารไทย  ผ่านวิดิโอคอนเฟอเรนซ์สองรอบ  เพื่อวางแนวทางรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน หากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ระบาดหนักกว่าที่คาด

รอบแรกเป็นเรื่องการบริหารจัดการเงินสด  เช่นการบริการเงินสดจากธปท. ไปสู่แบงก์ และการจัดสรรเงินสดเข้าตู้เอทีเอ็ม เป็นต้น ส่วนรอบสองหารือเกี่ยวกับระบบการชำระเงิน  วางระบบกันบริการชะงัก  และขยายท่อธุรกรรมดิจิทัล เป็นต้น

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า  ธนาคารสมาชิกได้วางแผนงานร่วมกัน  เพื่อให้มั่นใจว่าการให้บริการจะไม่หยุดชะงัก เช่นการเตรียมเงินสดในตู้เอทีเอ็ม  และเตรียมระบบไอที  จึงให้มั่นใจว่าบริการ โดยเฉพาะระบบการชำระเงิน จะให้บริการได้ต่อเนื่อง

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB)  กล่าวว่า กรณีโควิด -19 มีผลกระทบรุนแรงกว่าคาด ธนาคารมีแผน BCP เตรียมพร้อมไว้ โดยเฉพาะระบบไอที  ระบบการทำธุรกรรมบน SCB easy การให้บริการธุรกรรมเงินสดไร้พนักงานที่สาขา เพิ่ม capacity ของระบบ และทดสอบการทำงานในกรณีฉุกเฉินที่ไม่สามารถเดินทางได้ โดยเพิ่มบริการของ call center เป็นสามแห่ง หากแห่งใดไม่สามารถทำงานได้  และเตรียมพร้อมเครื่องรับฝากถอนเงินสดในจุดสำคัญในกรณีวิกฤติอย่างเต็มที่ ด้านพนักงานทดลองทำงานที่บ้านแล้ว มั่นใจว่าถ้าเหตุการณ์เลวร้ายขึ้นจะสามารถให้บริการได้ต่อเนื่อง

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า มีสองส่วนที่ธนาคารต้องเร่งทำ และให้ความสำคัญ  ด้านแรกคือการเร่งเข้าไปช่วยเหลือลูกค้า และเตรียมช่องทางให้บริการและช่วยเหลือลูกค้ากรณีฉุกเฉิน  พร้อมให้พนักงานบางส่วนทำงานที่บ้าน กระจายการทำงาน เช่นฝ่ายไอที เพื่อลดการกระจุกตัว และแบ่งทีมทำงาน เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินไว้แล้ว ถัดมาคือการให้บริการสำคัญพื้นฐาน เช่นระบบการโอนเงินช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เตรียมพร้อมคอลเซ็นเตอร์ เพราะช่องทางนี้จะเป็นกลไกหลักในการช่วยเหลือลูกค้า

นายประภาส ทองสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สื่อสารองค์กร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย แจ้งว่า ธนาคารได้ยกระดับมาตรการบริหารจัดการเพื่อป้องกันและควบคุมโรคให้รัดกุม พร้อมออกนโยบาย work from home ตามความเสี่ยง

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารทหารไทย ผู้บริหารธนาคารทหารไทยและธนชาต ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. เป็นต้นไป ธนาคารจะเริ่มให้พนักงานที่สำนักงานใหญ่บางแผนก Work From Home หากจำเป็นต้อปิดบางสาขา จะมีBuddy Branch คือ มีสาขาสำรองที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อให้บริการได้ เตรียมพร้อมเติมเงินในตู้เอทีเอ็ม  การทำธุรกรรมช่องทางออนไลน์ต้องไม่สะดุด หากธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นมากจะขยายขีดความสามารถในการรองรับ  โดยมีการซื้อระบบจากบริษัทไอบีเอ็ม

" Priority อันดับแรกที่ให้ความสำคัญและต้องซักซ้อมกัน คือทำอย่างไรให้ลูกค้ากระทบน้อยที่สุดหรือไม่กระทบเลย โดยต้องทำให้ระบบให้บริการไม่สะดุด"