ตลาดหุ้นทรุดรายวัน หวังยาแรงสร้างความเชื่อมั่น

 ตลาดหุ้นทรุดรายวัน   หวังยาแรงสร้างความเชื่อมั่น

วิกฤติโควิด-19 ขึ้นแท่นเป็นวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหญ่อีกครั้งหนึ่ง จนทำให้ต้องงัดมาตรการทางการเงิน และการคลังในทุกประเทศทั่วโลก เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบจะหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดที่พุ่งสูง นั้นทำให้ไทยโดนผลกระทบไม่น้อยจนต้องมีการออกมาพยุงตลาดหุ้น

     จากที่ผ่านมาโลกได้เผชิญเหตุการณ์แบล็ก มันเดย์ จากราคาน้ำมัน เหตุการณ์ต้มยำกุ้ง จากการโจมตีค่าเงินบาทจนทำให้ภาคการเงินไทยล้มระเนระนาด จากนั้นมีซับไพร์ม หลังเลห์แมน บราเธอร์ ล้มละลาย  และรอบนี้ ไวรัสโควิด-19 ซึ่งยังประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ยากว่าจะมีตัวเลขเท่าไร ด้วยภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงักแทบทั้งหมด ตามมาด้วยภาคบริการที่ประชาชนไม่กล้าไปใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน

     ด้านตลาดทุนที่มีผลไปแล้วคือดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ทรุดรายวันแต่หนักสุดคือตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. เป็นต้นมาจนต้องมีการใช้มาตรการหยุดพักการซื้อขาย หรือ Circuit breaker ถึง 2 วันซ้อน และยังมีโอกาสที่ดัชนีหุ้นจะร่วงลงไปต่ำกว่า 1,000จุดได้อีกครั้ง

     ดังนั้นจึงทำให้ภาคตลาดทุนตื่นตัวงัดมาตรการต่างเพื่อพยุงหุ้น เนื่องจากการปรับตัวลงมาหนักมาจากความวิตกกังวลถึงสถานการณ์ในประเทศไทยที่มีผู้ติดเชื่อเพิ่มสูงขึ้นและอาจจะเสี่ยงเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3

     ทั้งนี้มาตการที่ออกมาแล้วและพอจะทำให้ตลาดหุ้นมีความเชื่อมั่นได้บ้าง คือการปรับเกณฑ์ ชอร์ตเซล (short sell) จากเดิมขายชอร์ตเฉพาะราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Last trading price) เป็นขายชอร์ตได้เฉพาะราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย มีผลการซื้อขายบ่ายวันที่ 13 มี.ค. 2563 ทันที

     เช่น ราคาหุ้น A ซื้อขายอยู่ที่ 10.00 บาท เดิมสามารถชอร์ต ได้ที่ราคา 10.00 บาท หรือ 10.25 บาท ปรับให้เป็นชอร์ตที่ ราคา 11.00 บาทแทน จึงทำให้การทำธุรกิจจะจับคู่แมชชิ่งรายการได้ยากขึ้น

     ส่งทำให้มูลค่าการชอร์ตหายไปชัดเจน จากวันที่ 12 มี.ค. มูลค่าสูงถึง 8,142 ล้านบาท และวันที่ 13 มี.ค. มูลค่าอยู่ที่ 5,247 ล้านบาท อย่างไรก็ตามมีการวิเคราะห์ว่าการปรับเกณฑ์ชอร์ตยังไม่เพียงพอ รวมทั้งการทำชอร์ตเซลลก็ยังคงมีอยู่และสามารถอาศัยช่องโหว่ทำการโยนหุ้นดันราคาและชอร์ตอีกขาหนึ่งก็ย่อมได้ จึงทำให้มีความคาดหวังไปยังมาตรการอื่นๆ จะเป็นยาแรงตามมา

     ทั้งกองทุนพยุงหุ้น ที่จะเข้ามาเก็บหุ้นพื้นฐานดีแต่มูลค่าร่วงลงไปแรง เพื่อสร้างจิตวิทยาการลงทุนให้นักลงทุนเชื่อมั่น ซึ่งเม็ดเงินลงทุนยังเป็นประเด็นว่าควรเท่าไร จากมูลค่ามาร์เก็ตแคปปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นมาในระดับ 16-15 ล้านล้านบาทแล้ว

     เกณฑ์การบังคับขาย (Force sell) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่กระทบความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจหลักทรัพย์ เพราะเกณฑ์ดังกล่าวบังคับขายเมื่อหุ้นลงในแต่ละระดับจะมีการเรียกวางเงินประกันเพิ่ม สำหรับบัญชีซื้อขายกู้ยืมเพื่อลดผลกระทบของโบรกเกอร์ หากจะปรับเป็นไปได้ที่จะเพิ่มระดับในการเรียกวางเงินประกันเพิ่ม

    และการปรับเกณฑ์การลงทุน SSF จะออกขายวันแรก 1 เม.ย.นี้ อีกครั้ง หลังจากเปิดทางให้ลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65 % สามารถลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลอีก 2 แสนบาท ในช่วง เม.ย.-มิ.ย. ดูเหมือนว่า  ‘ยังไม่เพียงพอ‘ และ ’ดีกว่าไม่มีมาตรการอะไรออกมา’ เพราะระยะเวลาลงทุนยังคงไว้ที่ 10 ปี ทำให้เม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนมีความคาดหวังได้ 20,000 -30,000 ล้านบาท

   ทั้งหมดล้วนแต่รอการประชุมคณะกรรมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่รอบนี้เห็นถึงปัญหาของตลาดทุนไทยและผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อมาประคองไม่ให้เจอแรงแพนิคขายซึ่งมาจากความตื่นตะหนก และขาดข้อมูลที่ถูกต้องจนทำให้เกิดอารมณ์ขายหนีตายอย่างที่ผ่านมา ซึ่งในรอบนี้หากไม่ให้ยารักษาแรงพอกับตลาดทุนหุ้นน่าไปเจอกันที่ 700 จุด ต่ำกว่าช่วงวิกฤติซับไพร์ก็เป็นไปได้