ธุรกิจไทยกับการจัดการวิกฤตไวรัส 'โควิด-19'

ธุรกิจไทยกับการจัดการวิกฤตไวรัส 'โควิด-19'

ถอดบทเรียน "ซีพีเอฟ โมเดล" กับแผนรับมือวิกฤติ "โควิด-19" ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกองค์กร

วันก่อนเห็น คุณพรรณพร คงยิ่งยง ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SCB ได้เขียนถึงบทความของ Harvard Business Review ที่ว่าด้วยเรื่อง การนำธุรกิจฝ่าวิกฤตไวรัส COVID-19 ใน 7 มิติ จึงลองนำแนวทางดังกล่าวมาเทียบเคียงกับภาคธุรกิจของไทย แล้วก็พบว่า ซีพีเอฟ หรือ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร บริษัทของไทยเรา เป็นตัวอย่างที่ดีที่สามารถวางแผนรับมือ Crisis นี้ได้สอดคล้องกับแนวทางสากลดังกล่าว จึงอยากชวนให้ลองมาวิเคราะห์สิ่งที่บริษัทไทยรายนี้ทำ แบบไล่กันไปทีละข้อ

ทั้งนี้ก็เพื่อให้ธุรกิจอื่นๆนำไปประยุกต์ใช้ ด้วยหวังให้บริษัทไทย-คนไทยและประเทศไทย จะก้าวผ่านวิกฤตไวรัส COVID-19 ไปด้วยกัน

มิติแรก : Communications ข้อนี้ Harvard Business Review ระบุว่า ธุรกิจต้องสื่อสารกับพนักงานและบุคคลภายนอกถึงระเบียบวิธีปฏิบัติในการรับมือ COVID-19 อย่างรวดเร็ว เพื่อความเข้าใจและเตรียมรับมือในสถานการณ์ต่างๆ โดยข้อนี้ CEO ของ CPF ได้ออกประกาศวิธีปฏิบัติตัวของพนักงานและหน่วยงานต่างๆออกมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และออกมาประกาศมาเป็นระยะๆ เช่น ห้ามเดินทางประเทศกลุ่มเสี่ยง หากจำเป็นต้องแจ้งใครอย่างไร รวมถึงหากกลับมาแล้วต้องกักตัวเอง 14 วันตามกำหนด ไปจนถึงห้ามจัดประชุมระดับนานาประเทศที่บริษัทนี้มีกำหนดจัดขึ้นเป็นประจำ รวมถึงห้ามรับคณะเยี่ยมชมกิจการในช่วงนี้ ทำให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงาน และไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก

มิติสอง : Employee needs ที่สำคัญ บริษัทยังเข้าใจความต้องการของพนักงานในช่วงนี้ นอกจากจะสื่อสารถึงให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น การดูแลสุขภาพ การมอบหน้ากากอนามัยแก่เพื่อนพนักงานผ่านห้องพยาบาล การพ่นยาฆ่าเชื้อในพื้นที่สำนักงาน หรือแม้กระทั่ง ความใส่ใจต่อพนักงานที่กักตัวเอง 14 วัน ด้วยโครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” ตลอด 14 วัน ให้พนักงานได้รับความสะดวก ไม่ต้องจัดหาอาหารเอง ลดโอกาสออกมาสัมผัสส่วนรวม เป็นการร่วมสนับสนุนความรับผิดชอบต่อสังคมที่ดี และได้ผลอย่างมาก

มิติที่ 3 : Travel และ มิติที่ 4 : Remote work สองข้อนี้ บริษัทฯ ทำได้ชัดเจนมาก ตั้งแต่มิติแรกที่ว่าด้วยเรื่อง Communications แล้ว ตามที่ผู้เขียนได้ติดตามเพจ CPF ก็ได้เห็นการแสดงความห่วงใยพนักงาน มาโดยตลอด รวมถึงคำแนะนำแนวทางการปฏิบัติงานในระหว่างกักตัวด้วย

มิติที่ 5 : Supply-chain stabilization ความมั่นคงทางธุรกิจในช่วงของการรับมือ CRISIS เช่นนี้ จะต้องมีการเตรียมการอย่างรัดกุมและต้องเตรียมโดยตลอดห่วงโซ่การผลิตด้วย

สำหรับ CPF ซึ่งเป็นผู้นำด้านธุรกิจเกษตรและอาหารครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่อาหารสัตว์ (FEED) ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (FARM) อาหาร (FOOD) และค้าปลีก (RETIAL) ยิ่งมีรายละเอียดที่ต้องคำนึงถึงค่อนข้างมาก ในมิตินี้เชื่อว่า CPF ซึ่งมีหน่วยงานบริหารความเสี่ยง และมีแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ หรือ Business Continuity Planning – BCP อยู่แล้ว น่าจะมีการเตรียมพร้อมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีการ VDO Conference แนวทางการเตรียมความพร้อมต่างๆไปยังทุกประเทศทั่วโลกที่บริษัทลงทุนอยู่

ในภาวะวิกฤต COVID-19 ที่ไวรัสอณูเล็กๆ ระบาดไปทั่วทุกภูมิภาค และกำลังทำลายโลกทั้งใบ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตคน ภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของโลก เราได้เห็นจำนวนผู้ป่วยเป็นแสนคน ผู้เสียชีวิตหลายพันคน เห็นความล่มสลายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การล้มละลายของธุรกิจใหญ่อย่างสายการบิน และการตกต่ำของตลาดหุ้นทั่วโลก ฯลฯ

มิติที่ 6 : Business tracking and forecasting เมื่อวิกฤติมีแนวโน้มจะทำให้ผลการดำเนินงานสะดุด ไม่สม่ำเสมอ บริษัทจำเป็นต้องทำการประเมินสถานการณ์และคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ควบคู่ไปกับการทำ Crisis Management เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบและป้องกันไม่ให้ลุกลาม ซึ่ง CPF ถือเป็นบริษัทชั้นนำของไทยที่สามารถผ่านด่านความท้าทายในการจัดการธุรกิจมาแล้วหลายครั้ง

มิติสุดท้าย : Being part of the broader solution ในมิตินี้ CEO CPF เคยให้สัมภาษณ์ว่า CPF เป็น Good Citizen ของประเทศไทย เป็นพลเมืองดีที่พร้อมช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติ แม้ในยามคับขันหรือยามปกติ และสิ่งที่ทำให้สังคมชื่นชมองค์กรแห่งนี้ที่สุดในสถานการณ์ COVID-19 ก็คือการใช้ความเชี่ยวชาญของบริษัทในด้าน “อาหาร” ออกมาช่วยเหลือประชาชน โดยขยาย โครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” จากที่ช่วยเหลือเฉพาะพนักงาน ให้ครอบคลุมไปถึงประชาชนที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงแล้วมีความรับผิดชอบต่อสังคม ยอมกักตัวอยู่ภายในบ้าน 14 วัน รวมถึงมอบอาหารสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งต้องเหน็ดเหนื่อยในการดูแลรักษาผู้ป่วยและคัดกรองกลุ่มเฝ้าระวัง

โครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” จึงเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ออกมาอย่างถูกที่ ถูกเวลา และถูกสถานการณ์ ส่งผลให้ได้รับคำชื่นชมจากทุกภาคส่วน ...เรียกว่าโครงการนี้สอดคล้องกับมิติที่ 7 ของ Crisis Management ที่ Harvard Business Review ระบุไว้อย่างชัดเจน

ในภาวะวิกฤต COVID-19 ที่ไวรัสอณูเล็กๆ ระบาดไปทั่วทุกภูมิภาค และกำลังทำลายโลกทั้งใบ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตคน ภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของโลก เราได้เห็นจำนวนผู้ป่วยเป็นแสนคน ผู้เสียชีวิตหลายพันคน เห็นความล่มสลายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การล้มละลายของธุรกิจใหญ่อย่างสายการบิน และการตกต่ำของตลาดหุ้นทั่วโลก ฯลฯ

หากคุณคือหนึ่งในภาคธุรกิจไทย อย่างน้อยขอให้ใช้แนวทางนี้เตรียมความพร้อม ซึ่งไม่เพียงจะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด แต่จะช่วยลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของชาติด้วย ... เพื่อให้เราก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันครับ