ทูตเกษตรห่วง ‘โควิด’ กระทบตลาดผลไม้พรีเมี่ยมไทย

ทูตเกษตรห่วง ‘โควิด’ กระทบตลาดผลไม้พรีเมี่ยมไทย

ทูตเกษตรระบุโควิด-19 ระบาดหยุดบินทำตลาดผลไม้พรีเมียมไทยพัง ล้งจีนเลิกเหมาสวน ผู้บริโภคหันซื้อออนไลน์ แนะแปรรูป-กระตุ้นยอดในประเทศ

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้รับรายงานผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดไวรัสโคโรนา (โควิด-19) จากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสหรัฐ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการระงับเที่ยวบิน จากจำนวนผู้โดยสารและการเดินทางระหว่างประเทศได้ลดลง เช่น การระงับเที่ยวบินระหว่างไทย-จีน ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ไทยที่ขนส่งทางอากาศ เช่น ทุเรียนพรีเมียม ชมพู่ มะม่วง กล้วย

โดยในช่วงเดือน ก.พ.และ มี.ค.2563 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ยกเลิกและลดเที่ยวบินของสายการบินไทยจากกรุงเทพฯ ไปยังเมืองต่างๆ ในจีน ได้แก่ กวางโจว ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เซียะเหมิน คุนหมิง เฉิงตู จึงส่งผลกระทบต่อการส่งออกมายังจีนมากในช่วงตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นไป โดยผลผลิตที่จะได้รับผลกระทบมากสุดคงเป็นทุเรียน มังคุด ผู้นำเข้ายังคงมีความไม่มั่นใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้จับตาคำสั่งซื้อ หรือการเหมาสวนอาจไม่เกิดขึ้น

ตลาดญี่ปุ่น การระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 รัฐบาลเรียกร้องให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ให้บริษัทพิจารณาการทำงานที่บ้านของพนักงาน และระงับการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก รวมถึงให้โรงเรียนปิดภาคเรียนเร็วกว่ากำหนด สถานการณ์ญี่ปุ่นนำเข้ากล้วย มังคุด และมะพร้าวลดลง ถือว่าปริมาณสินค้าผลไม้มีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ยกเว้นกล้วย

เกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น กระทบนำเข้ากล้วย มังคุด และมะพร้าวลดลง แต่ถือว่าปริมาณสินค้าผลไม้มีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะกล้วยแปรรูป ผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่าการออกมาซื้อสินค้านอกบ้าน และปริมาณมะม่วงที่นำเข้าจากการแปรรูปก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้นไทยต้องเตรียมหาตลาดอื่น ตลอดจนกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เพื่อทดแทนการส่งออกไปเกาหลีใต้ รวมถึงการแปรรูปผลไม้เพื่อขยายระยะเวลาในการเก็บรักษาไว้เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย

ตลาดออสเตรเลีย ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าผลไม้จากไทยของออสเตรเลีย และคาดว่าการนำเข้าผลไม้ไทยในช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค.2563 จะมีแนวโน้มที่ดีและเพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. รัฐบาลควรเร่งประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์และคุณภาพผลไม้ไทยเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการจำหน่ายผลไม้ ส่วนตลาดสหรัฐ ประชาชนจับจ่ายใช้สอยลดลง ทำให้มีจำนวนผลไม้สดตกค้างมากขึ้น