'เอสเอ็มอี' บอบช้ำหนักจากโควิด-19

'เอสเอ็มอี' บอบช้ำหนักจากโควิด-19

สำรวจมาตรการเยียวยาธุรกิจและผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยรัฐบาลแต่ละประเทศ โดยเฉพาะการช่วยเหลือธุรกิจ "เอสเอ็มอี" ซึ่งถือว่าบอบช้ำมากที่สุดจากวิกฤติด้านสาธารณสุขทั่วโลกครั้งนี้

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็น “ภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก” (Pandemic) ซึ่งหมายถึงการแพร่กระจายของโรคใหม่ไปยังพื้นที่ทั่วโลก แม้ว่าเกณฑ์ที่ชัดเจนในการตัดสินว่าสถานการณ์ใดควรได้รับคำนิยามนี้จะไม่ชัดเจนเสียทีเดียว แต่การประกาศดังกล่าวเป็นการยกระดับจาก “ภาวะการระบาดของโรค” (Epidemic) แล้ว

กำลังสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้แก่ทั่วโลก รัฐบาลแต่ละประเทศต้องเร่งออกมาตรการเยียวยา และช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) คือ เหยื่อโควิด-19 ที่ถือว่าบอบช้ำมากที่สุดจากวิกฤติด้านสาธารณสุขทั่วโลกครั้งนี้

เริ่มจาก "ญี่ปุ่น" ซึ่งเป็นประเทศเสี่ยงในสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่น ประกาศมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีวงเงิน 4 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 124,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นความช่วยเหลือครั้งที่ 2 ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีเป้าหมายในการกระตุ้นการขยายตัวของภาคเอกชน และลดอัตราการล้มละลายของบริษัท

บริษัทเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรเงินส่วนหนึ่งจากงบประมาณประจำปีนี้ที่มีอยู่ราว 2.7 แสนล้านเยนมาสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือภาคเอกชนในครั้งนี้

ส่วน "อังกฤษ" ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 30,000 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 1.16 ล้านล้านบาท เพื่อชดเชยผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีผลต่อประชาชนและภาคธุรกิจ รวมทั้งทุ่มงบอีก 5,000 ล้านปอนด์ ให้กับทางกระทรวงสาธารณสุขนำไปจัดการกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่โดยเฉพาะ

ด้าน "อิตาลี" นายกรัฐมนตรีจูเซปเป คองเต ประกาศใช้งบประมาณ 28,300 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 850,000 ล้านบาท จัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ขณะนี้อิตาลีสั่งปิดร้านค้าทั่วประเทศ ให้เหลือเพียงร้านขายยา และร้านค้าหรือสถานที่จำหน่ายอาหารและข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นเท่านั้น ภัตตาคาร ร้านกาแฟ ร้านทำผม และผับให้ปิดบริการ แต่หากสถานประกอบการ ซึ่งได้รับอนุญาตให้เปิดทำการยังฝ่าฝืนคำสั่งจัดพื้นที่ เจ้าหน้าที่จะสั่งปิดกิจการทันที

ขณะที่ "สหรัฐ" ใช้มาตรการเร่งด่วนด้านการบรรเทาผลกระทบ โดยจะอัดฉีดสภาพคล่องอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ พร้อมทั้งจัดหาสภาพคล่องให้กับบริษัทต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดนี้ 

นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ซึ่งได้ประชุมกับแกนนำของพรรครีพับลิกันเพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เสนอให้มีการปรับลดภาษีเงินเดือนสู่ระดับ 0% จนถึงสิ้นปีนี้ แต่สมาชิกพรรครีพับลิกันหลายคนแสดงความไม่เห็นด้วยต่อแนวคิดนี้  เนื่องจากจะทำให้รัฐบาลขาดรายได้ในการสนับสนุนโครงการประกันสุขภาพ และสวัสดิการสังคมของชาวอเมริกัน

ส่วนองค์การระดับโลกอย่าง "ธนาคารโลก" ก็รับปากจะให้เงินช่วยเหลือ 12,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณกว่า 376,000 ล้านบาท แก่ประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเงินช่วยเหลือก้อนนี้ จะอยู่ในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เงินให้เปล่า และการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค