‘ผีน้อย’ จากประเทศกลุ่มเสี่ยง COVID เข้าไทย รัฐกักตัวไม่ได้จริงหรือ?

‘ผีน้อย’ จากประเทศกลุ่มเสี่ยง COVID เข้าไทย รัฐกักตัวไม่ได้จริงหรือ?

หลังจากรองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง เผยว่า ไทยไม่มีกฎหมายที่จะกักตัว “ผีน้อย” จากเกาหลีใต้ซึ่งมีผู้ป่วยโควิด-19 มากที่สุดนอกประเทศจีน แล้วในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่มีอำนาจหรือทางเลือกตามกฎหมายมากน้อยแค่ไหนในการจัดการความเสี่ยงจากโรคระบาดนี้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รองนายกรัฐมนตรีท่านนั้น กล่าวถึงกรณีคนไทยที่ลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ หรือ “ผีน้อย” ขอกลับไทยกว่า 5,000 คนตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่า รัฐบาลทำได้เพียงขอความร่วมมือให้ผีน้อยที่เดินทางกลับมา ต้องกักตัวอยู่ในที่บ้านของตนเอง เนื่องจากประเทศต้นทาง (เกาหลีใต้) ไม่ได้กำหนดหรือประกาศปิดเมือง เหมือนเมืองอู่ฮั่นของจีน จึงไม่มีกฎหมายที่จะสามารถกักตัวผู้ที่เดินทางกลับมาได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมายที่ประเทศไทยมีอยู่ ดูเหมือนจะขัดแย้งกับความเห็นนี้

เมื่อวันที่ 29 ก.พ. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2563” ที่ให้โรคโควิด 19 เป็น “โรคติดต่ออันตราย” ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อประโยชน์ในการเผ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2563

ประกาศดังกล่าวระบุอาการสำคัญของโรคโควิด-19 ว่า ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรง จะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิต

และเมื่อดูพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พบว่า ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการกับผู้สัมผัสโรคหรือพาหะ ด้วยการ “แยกกัก” “กักกัน” หรือ “คุมไว้สังเกต“ ณ สถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนดได้

พ.ร.บ.โรคติดต่อ นิยามความหมายของคำว่า “แยกกัก” ว่า การแยกผู้สัมผัสโรคหรือพาหะไว้ต่างหากจากผู้อื่นในที่เอกเทศ เพื่อป้องกันมิให้เชื้อโรคแพร่โดยทางตรงหรือทางอ้อมไปยังผู้ซึ่งอาจได้รับเชื้อโรคนั้น ๆ ได้ จนกว่าจะพ้นระยะติดต่อของโรค

ส่วนคำว่า “กักกัน” หมายความว่า การควบคุมผู้สัมผัสโรคหรือพาหะให้อยู่ในที่เอกเทศ เพื่อป้องกัน มิให้เชื้อโรคแพร่โดยทางตรงหรือทางอ้อมไปยังผู้ซึ่งอาจได้รับเชื้อโรคนั้น ๆ ได้ จนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค หรือจนกว่าจะพ้นความเป็นพาหะ

ขณะที่คำว่า “คุมไว้สังเกต” หมายความว่า การควบคุมดูแลผู้สัมผัสโรคหรือพาหะโดยไม่กักกัน และอาจจะอนุญาตให้ผ่านไปในที่ใด ๆ ก็ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อไปถึงท้องที่ใดที่กําหนดไว้ ผู้นั้นต้องแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจําท้องที่นั้นเพื่อรับการตรวจในทางแพทย์ เพื่อป้องกันมิให้เชื้อโรคแพร่ โดยทางตรงหรือทางอ้อมไปยังผู้ซึ่งอาจได้รับเชื้อโรคนั้น ๆ ได้

เดือนที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขแนะนำประชาชนว่า เลี่ยงหรือเลื่อนการเดินทางไปที่ไม่จำเป็นออกไป โดยขณะนี้ประเทศในกลุ่มเสี่ยงโรคโควิด-19 ได้แก่ จีน (นับรวมฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน) ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อิตาลี และอิหร่าน

นั่นหมายความว่า ในตอนนี้ หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบ “ผีน้อย” และคนอื่น ๆ ที่กลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และแสดงอาการป่วยโควิด-19 ก็มีอำนาจในการกักตัวคนเหล่านี้ได้ตามกฎหมายในทันที

และล่าสุด รัฐบาลก็มีท่าทีที่ชัดเจนขึ้นต่อเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงหลังการประชุมมาตรการเร่งด่วนเพื่อรองรับแรงงานไทยในเกาหลีใต้ที่เดินทางกลับจากประเทศเสี่ยงโควิด-19 วันนี้ (4 มี.ค.) ว่า คนกลุ่มนี้เมื่อผ่านการคัดกรองแล้วจะต้องเข้าสู่กระบวนการการคัดแยก ผู้ที่มีไข้จะต้องเข้าสู่พื้นที่การกักตัวของรัฐ เมื่อเข้าสู่ประเทศไทยจะต้องถูกควบคุม ไม่มีการกลับไปควบคุมที่บ้าน จะมีพื้นที่สำหรับควบคุมไว้ กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเป็นพื้นที่ของกองทัพหรือโรงพยาบาลตามภูมิลำเนา โดยมีแพทย์เข้าไปดูแล โดยจะต้องถูกกักตัว 14 วัน

ปัจจุบัน เกาหลีใต้ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ป่วยโควิด-19 มากที่สุด อยู่ที่กว่า 5,300 คน (นับถึงวันที่ 4 มี.ค.) เป็นรองเพียงจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีผู้ป่วยกว่า 80,000 คน ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่า ผีน้อยจำนวนมากที่ทยอยเดินทางกลับไทย มีความเสี่ยงที่จะนำเชื้อไวรัสมรณะกลับมาแพร่รระบาดในประเทศหรือไม่ ซึ่งจนถึงขณะนี้ ไทยยืนยันจำนวนผู้ป่วยอยู่ที่ 43 คน