เปิดโผหุ้นรับอานิสงส์ ‘บาทอ่อน’ โบรกชู ‘อิเล็กฯ-อาหาร’ เด่น

เปิดโผหุ้นรับอานิสงส์ ‘บาทอ่อน’ โบรกชู ‘อิเล็กฯ-อาหาร’ เด่น

สถานการณ์ "เงินบาท" เทียบกับ "ดอลลาร์สหรัฐ" กลับมา "อ่อนค่า" มากสุดในรอบ "9 เดือน" อยู่ที่ประมาณ 31.8 บาทต่อดอลลาร์ โดยเป็นการอ่อนค่าจากประมาณ 30 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา หรือคิดเป็นการอ่อนค่าลงราว 6% เป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาค

สุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย ประเมินว่า ผู้ส่งออกจะได้ประโยชน์หลักจากเงินบาทที่อ่อนค่าลง เราได้วิเคราะห์ความอ่อนไหวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเงินบาทที่อ่อนค่าลงต่อกำไรสุทธิของกลุ่มธุรกิจ พบว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์หลักจากเงินบาทที่อ่อนค่า คือผู้ส่งออกกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และอาหาร จากสัดส่วนรายได้ในสกุลเงินดอลลาร์ที่สูง

“ล่าสุดทางธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทมีแนวโน้มอยู่ที่บริเวณ 32 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ แต่ในระยะถัดไปขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของโควิด-19 หากควบคุมได้เร็วก็อาจจะเห็นเงินบาทแข็งค่ากลับมาที่ 30.5 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปลายปีนี้ เพราะมองว่าดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีจะยังเกินดุล ขณะที่สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่สูงขึ้น จะทำให้เงินบางส่วนไหลเข้าไทย”

สำหรับเงินบาทที่อ่อนค่าลดลงทุก 1 บาทต่อดอลลาร์ จะเพิ่มกำไรสุทธิในปี 2563 ของผู้ส่งออกกลุ่มอิเล็กทริอนิกส์ได้แก่ บมจ.เดลต้า อีเลคทรอนิกส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็กโทรนิคส หรือ HANA บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ หรือ KCE บมจ.เอสวีไอ หรือ SVI ส่วนกลุ่มอาหาร ได้แก่ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU บมจ.เซ็ปเป้ หรือ SAPPEให้เพิ่มขึ้น 7-18%

158277988085

ขณะที่ "ผู้เสียประโยชน์" จากเงินบาทที่อ่อนค่า คือ กลุ่มสายการบินและโรงไฟฟ้า โดยเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนของกลุ่มสายการบินสูงขึ้น และจากกำไรสุทธิที่อยู่ในระดับต่ำ จึงคาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มสายการบินจะปรับลดลง 80-100%จากค่าเงินบาทที่ลดลง 1 บาทดอลลาร์ ขณะที่บริษัทในกลุ่มโรงไฟฟ้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเนื่องจากมีสัดส่วนหนี้สินในสกุลเงินดอลลาร์สูง เงินบาทที่อ่อนค่าลงจะทำให้แต่ละบริษัทรับรู้ผลขาดทุนที่ยังไม่รับรู้จากอัตราแลกเปลี่ยน

"ณัฐชาต เมฆมาสิน" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในระยะนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากภาพในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยหลักเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 กระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้ดุลบัญชีเกินสะพัดมีแนวโน้มจะอ่อนแอลง

“ก่อนหน้านี้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยแข็งแกร่งมาก หนุนให้เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง แม้การส่งออกจะไม่ดี แต่นำเข้าแย่กว่า ขณะที่การท่องเที่ยวเติบโตมาต่อเนื่อง ประกอบกับ กนง. ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลงในรอบล่าสุด ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและทั่วโลกแคบลง แรงจูงใจในการทำ carry trade ก็น้อยลงไป เราจึงเห็นนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในช่วงที่ผ่านมา เป็นคีย์สำคัญที่ทำให้แนวโน้มเปลี่ยน”

สำหรับมุมมองในช่วงต่อจากนี้ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งภายในการประชุม 2 ครั้งถัดจากนี้ คือ เดือน มี.ค. หรือเดือน พ.ค. 2563 ส่วนระดับค่าเงินบาทนั้นประเมินว่าภาพทั้งปีจะอยู่ประมาณ 31 บาทต่อดอลลาร์ จากเดิมที่คาดไว้ 30 บาทต่อดอลลาร์

แม้เงินบาทในปัจจุบันจะอ่อนค่ากลับมาเกือบ 32 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากการแพร่ระบาดคลี่คลายได้ เงินบาทน่าจะกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง เพราะสัญญาณการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปีเริ่มฟื้นตัว หลังจากปัญหาสงครามการค้าจบลง

“นโยบายการเงินของแบงก์ชาติซึ่งตัดสินใจลดดอกเบี้ยลง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า คล้ายกับช่วงปี 2558 ซึ่งเป็นรอบของการลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2554 จากราว 3% มาเหลือเพียง 1.5% ซึ่งในเวลานั้น เงินบาทก็อ่อนค่าไปถึงระดับ 35 – 36 บาทต่อดอลลาร์ สำหรับหุ้นที่จะได้ประโยชน์มองว่ากลุ่มอาหารน่าจะโดดเด่นสุด ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีแรงกดดันจาก supply chain ที่ถูกกระทบจากไวรัส”