หนุนศึกษาขุดคลองไทย จี้รัฐบาลเดินหน้า

หนุนศึกษาขุดคลองไทย จี้รัฐบาลเดินหน้า

ส.ว.ประภาศรี สุฉันทบุตร หนุนวุฒิสภาศึกษาความคุ้มค่าขุดคลองไทยคู่ขนานสภาผู้แทนฯ จี้รัฐบาลเดินหน้าหลัง"บิ๊กตู่"สั่งสภาพัฒน์จับมือ สมช.ศึกษาแต่ผ่านมา 2 ปีแล้วยังไม่คืบหน้า


นางประภาศรี สุฉันทบุตร สมาชิกวุฒิสภาเปิดเผยว่า การจัดเสวนา"คลองไทยคุ้มค่าต่อประเทศไทยหรือไม่"โดย คณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา มีนายศุภชัย สมเจริญ ประธานวุฒิสภาเป็นประธาน ที่มหาวิทยาลัยรังสิตวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ มีผู้เข้าร่วม จากทุกภาคส่วนเป็นจำนวนมาก วิทยากร และผู้มาร่วมเสวนา ต่างสนับสนุนการขุดคลองไทยผ่าน 5 จังหวัดภาคใต้ตามแนว9Aเพื่อเป็นทางเดินเรือเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย เพราะไม่เพียงแต่จะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ยัง เชื่อมโลก และเปลี่ยนชีวิตของโลกอีกด้วย หาก คลองไทยเกิดขึ้นจริง จะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกไม่ต่างไปจากการสร้างกำแพงเมืองจีน

นางประภาศรี กล่าวว่า กรรมาธิการบางคณะ ของวุฒิสภามีการศึกษาเรื่องนี้ แต่ยังไม่เป็นกิจจะลักษณะ วุฒิสภาควรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นศึกษา ความเป็นไปได้ของโครงการคลองไทย เช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร  ที่ทุกพรรคเสนอญัตติจนกระทั่งได้ตั้งคณะกรรมาธิการ 49 คนไปศึกษาภายใน 120 วัน ซึ่งถือเป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติวุฒิสภาไม่ควรปล่อยโอกาสให้ผ่านไปเฉยๆ แต่ควรศึกษาอย่างจริงจังคู่ขนานไปกับสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตาม นางประภาศรี กล่าวว่า เมื่อปลายปี 2560 นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้มีหนังสือสั่งการให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมเกี่ยวกับการสร้างคลองไทยผ่าน 5 จังหวัด คือกระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราชและสงขลา โดยให้ประสานงานกับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายถึงสมาคมคลองไทย 5 จังหวัด ถึงวันนี้เวลาผ่านไป 2 ปีแล้ว รัฐบาลยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเชิงลึก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก

“เท่าที่ติดตามข่าว ประชาชนใน 5 จังหวัด ตามแนว 9A และ จังหวัดต่างๆทั่วทั้งประเทศก็สนับสนุนให้มีคลองไทยเกิดขึ้น ขณะนี้ฝ่ายนิติบัญญัติขยับแล้ว ประชาชนก็ตื่นตัวแสดงออกอย่างกว้างขวาง ต้องการคลองไทย ถึงขั้นบอกว่า ศึกษามามากแล้ว ไม่ต้องศึกษาอีกก็ตาม รัฐบาลไม่ควรนิ่งเฉย ควรรีบตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา ความคุ้มค่าในด้านต่างๆ ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ เพื่อให้ได้ข้อยุติที่เป็นวิชาการ มีความน่าเชื่อถือ และยอมรับได้ โดยมีฐานข้อมูลทางวิชาการรองรับ"นางประภาศรีกล่าว