'คาเธ่ย์แปซิฟิก' วิกฤติ ขอ พนง. หยุด 3 เดือนไม่รับค่าจ้าง

'คาเธ่ย์แปซิฟิก' วิกฤติ ขอ พนง. หยุด 3 เดือนไม่รับค่าจ้าง

คาเธ่ย์แปซิฟิก แถลงผ่านวีดิโอถึงพนักงาน 27,000 ของบริษัท ขอให้ลาหยุดได้ถึง 3 สัปดาห์โดยไม่ได้รับค่าจ้าง

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดไม่หยุด นอกเหนือจากการคร่าชีวิตผู้คนทุกวันแล้วยังส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจมากมายมหาศาล รายล่าสุดคือคาเธ่ย์ แปซิฟิก สายการบินชั้นนำของฮ่องกง ที่ขอให้พนักงานทุกคนลางาน 3 สัปดาห์โดยไม่ได้รับค่าจ้าง 

ออกัสตุส ตัง ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) คาเธ่ย์แปซิฟิก แถลงผ่านวีดิโอถึงพนักงาน 27,000 ของบริษัทขอให้ลาหยุดได้ถึง 3 สัปดาห์โดยไม่ได้รับค่าจ้างระหว่างเดือน มี.ค.-มิ.ย.

ผมหวังว่าทุกคนจะให้ความร่วมมือ ตั้งแต่พนักงานส่วนหน้าไปจนถึงผู้บริหารอาวุโส และช่วยแบ่งปันความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่ด้วยกัน”

คำขอนี้เกิดขึ้นในช่วงที่คาเธ่ย์กำลังสิ้นหวัง ปีที่แล้วต้องเผชิญกับการเมืองฮ่องกงโกลาหลและเหตุประท้วงนานหลายเดือน ตอนนี้เสียหายหนักไปกว่าเดิมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่พบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น ทางภาคกลางของจีนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แล้วแพร่ระบาดไปทั่วช่วงตรุษจีน ที่ถือว่าเป็นช่วงพีคสุดช่วงหนึ่งของสายการบิน แต่กลายเป็นว่าสายการบินนานาชาติหลายสิบแห่งลดหรือหยุดบินไปจีน เพื่อระงับการแพร่ระบาดในช่วงที่จำนวนผู้โดยสารลดฮวบไม่มีใครอยากเดินทาง

ตังกล่าวด้วยว่า คาเธ่ย์กำลังเผชิญวันหยุดตรุษจีนที่ยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยเจอเพราะไวรัส

แล้วเราก็ไม่ทราบว่าเหตุการณ์จะดำรงอยู่ไปอีกนานแค่ไหน ด้วยความไม่แน่ไม่นอนแบบนี้ การเก็บเงินสดว่าน่าจะเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาธุรกิจให้รอด

ผมรู้ดีว่ายากจะทำใจเมื่อได้ยินแบบนี้ และเราอาจให้มาตรการที่จำเป็นเพิ่มเติมอีก แต่การสนับสนุนโครงการลาพักพิเศษ คุณจะได้รับความช่วยเหลือเมื่อคุณต้องการ"

ซีอีโอคาเธ่ย์ยังขอให้ซัพพลายเออร์ลดราคาสินค้า และในระยะสั้นคาเธ่ย์จะปรับลดจำนวนที่นั่งลง เพิ่มเติมจากที่ลดเที่ยวบินทั่วโลกลง 30% เป็นเวลา 2 เดือน ส่วนเที่ยวบินไปจีนแผ่นดินใหญ่ลดลง 90%

ครั้งสุดท้ายที่คาเธ่ย์ขอให้พนักงานลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้าง เกิดขึ้นในปี 2552 หลังเกิดวิกฤติการเงินโลก

ส่วนสถานการณ์ตอนนี้ตังกล่าวว่า “ราวกับหลุมฝังศพ”

สำหรับเศรษฐกิจฮ่องกงขณะนี้อยู่ในภาวะถดถอย เสียหายหนักทั้งจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ และการประท้วง พอมาเจอไวรัสระบาดยิ่งไปกันใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบันเทิงเสียหายหนักมาก ฮ่องกงมีผู้ติดเชื้อ 21 คน เสียชีวิต 1 คนเมื่อวันอังคาร (4 ก.พ.)

ส่วนเรือสำราญเวิลด์ดรีมของบริษัทดรีมครุยส์ ที่ถูกท่าเรือเกาสงของไต้หวันปฏิเสธไม่ให้เทียบท่าเมื่อวันอังคาร ขณะนี้จอดอยู่ที่ฮ่องกงพร้อมผู้โดยสารราว 1,800 คน และพนักงานจำนวนพอๆ กัน

กระทรวงสาธารณสุขฮ่องกงแถลงว่า ผู้โดยสารชาวจีนแผ่นดินใหญ่ 3 คน ที่อยู่บนเรือระหว่างวันที่ 19-24 ม.ค.ติดไวรัส แต่พนักงานส่วนใหญ่มาจากฮ่องกง ลูกเรือบางคนมีรายงานว่ามีอาการไข้

แคร์รี หล่ำ หัวหน้าคณะบริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกง กล่าวว่า ท่าเรือสำราญสองแห่งทั้งไคตั๊กและโอเชียนเทอร์มินัล จะหยุดให้บริการทันที นักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ทุกคนต้องถูกบังคับกักตัวดูอาการ

นี่คือมาตรการอันเข้มงวด” หล่ำประกาศชัด