5 แนวทาง CSR ที่บริษัทต่างๆ จะทำในปี 2020

5 แนวทาง CSR ที่บริษัทต่างๆ จะทำในปี 2020

เปิด 5 แนวทางด้าน CSR ที่เหล่าธุรกิจหรือองค์กรต้องรู้ ไม่เพียงเพื่อพนักงานในองค์กรเท่านั้น แต่เพื่อการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต

สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านทุกท่าน เราเข้าสู่ปีใหม่ ทศวรรษใหม่ในปี 2020 กันแล้วนะคะ ฉบับนี้ ดิฉันมีแนวโน้มการทำ CSR หรือโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรต่างๆ ในปี 2020 มาฝากกันค่ะ

Sachs Media Group พีอาร์เอเจนซี่ชั้นนำสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ในปี 2020 ผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญกับเป้าหมายส่วนตัว อาทิ เป้าหมายด้านสุขภาพหรือหน้าที่การงาน แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็เริ่มให้ความสำคัญกับบริษัทหรือแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) มากขึ้น โดยจากสถิติของคนอเมริกันพบว่า กว่า 90% ของชาวอเมริกันจะซื้อสินค้าหรือบริการจากบริษัทที่ตอบสนองต่อประเด็นปัญหาที่พวกเขากังวล

นอกจากนั้น กว่า 76% จะปฏิเสธการซื้อสินค้าและบริการ หากพบว่าบริษัทหรือองค์กรนั้นๆ สนับสนุนสิ่งที่ตรงข้ามกับความเชื่อของพวกเขา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ธุรกิจหรือแบรนด์ต่างๆ ควรมุ่งไปยังประเด็นสำคัญต่อทั้งองค์กรและกลุ่มเป้าหมาย โดยเป้าหมายของธุรกิจนั้น ไม่ได้วัดเพียงแค่ด้านผลกำไรหรือตัวเลข แต่ต้องเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสาธารณชนด้วยเช่นกัน

  • และนี่คือ 5 เทรนด์ของการทำ CSR ที่เราจะพบได้ในปี 2020 ค่ะ

การส่งเสริมให้พนักงานเป็นอาสาสมัคร บริษัทต่างๆ เริ่มมองเห็นประโยชน์จากการให้พนักงานทำงานจิตอาสา ซึ่งนี่ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงานเท่านั้น แต่ยังทำให้คนนอกองค์กรมองเห็น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่สนับสนุนการแก้ปัญหาหรือกำลังรณรงค์ในเรื่องนั้นๆ เช่น บางบริษัทอาจมีข้อเสนอให้พนักงานไปทำงานจิตอาสาได้ โดยไม่ถือเป็นวันลา หรือระดมเงินบริจาคมาช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ ที่อาจมีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับองค์กรในทางใดทางหนึ่ง

การลงทุนริเริ่มในสิ่งใหม่ๆ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม บริษัทต่างๆ อาจสนับสนุนองค์กรระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศ ผ่านการบริจาค หรือแม้แต่อาจจัดงานรณรงค์ เพื่อแก้ปัญหาใดๆ และอาจใช้ความเชี่ยวชาญ ขององค์กรในการเป็นกระบอกเสียงเพื่อ ให้คนหันมาเห็นความสำคัญของปัญหา หรือเข้ามาช่วยเหลือ บางองค์กรอาจส่งเสริมหรือเชิญชวนให้พนักงานบริจาค เพื่อช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การสร้างรายได้ หรือด้านสุขภาพ เป็นต้น

การใช้แรงงานอย่างมี "จริยธรรม" ตลาดแรงงานทั่วโลกเปลี่ยนไปอย่างมาก องค์กรต่างๆ เริ่มตระหนักว่าทั้งพนักงานปัจจุบันหรือคนที่มีแนวโน้มจะเป็นพนักงาน ในอนาคต ล้วนมองหาบริษัทที่ดูแลพนักงาน ทั้งในและนอกเวลางาน ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจว่า องค์กรดึงดูดคนที่มีความสามารถมากพอ และมีจริยธรรมธุรกิจที่ดี องค์กรจึงควรหาโอกาสเพื่อสร้างความมั่นใจในแบรนด์ให้มากขึ้น ด้วยการให้แรงจูงใจที่ดีและแข่งขันได้ สร้างสถานที่ทำงานที่สะดวกสบาย และสร้างความผูกพันในหมู่พนักงานเสมอๆ ตัวอย่างเช่น Netflix เสนอให้พนักงานลา เพื่อไปเลี้ยงดูบุตรได้ถึง 52 สัปดาห์ หรือ 1 ปี โดยยังคงได้รับเงินเดือน โดยเป็นบุตรที่อยู่ในช่วงวัยใดก็ได้ หรือเป็นบุตรบุญธรรมก็ได้อีกด้วย

การส่งเสริมการทำบุญเพื่อการกุศล หรือ Philanthropy องค์กรต่างๆ อาจมีพันธกิจในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ด้วยการตั้งทีมงานด้านความรับผิดต่อสังคมขึ้นมา เพื่อให้องค์กรสามารถช่วยเหลือกลับคืนสู่สังคม เช่น บางบริษัทอาจจูงใจให้พนักงานร่วมทำการกุศล หรืออาจไปร่วมกับพันธมิตร ภายนอกองค์กรเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

การใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มมองหาหนทางที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงหันมาสนับสนุนแบรนด์หรือธุรกิจที่ทำเช่นเดียวกัน อาทิ Johnson & Johnson ที่มุ่งใช้พลังงานทดแทน โดยใช้ซัพพลายเออร์พลังงานทดแทนโดยตรง เป็นต้น

การมุ่งลดโลกร้อน ซึ่งเป็นกระแสในปัจจุบันพอดี ธุรกิจต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือลดภาวะโลกร้อน โดยมีหลากหลายวิธีที่สามารถทำได้ เช่น การเพิ่มการรีไซเคิล การลดการใช้พลังงาน และนำการบริหารจัดการของเสีย เช่น การลดการใช้กระดาษ การนำของเสียกลับมาทำปุ๋ย การลดการใช้พลาสติก และการออกนโยบายต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น นโยบายการเดินทางโดยรถสาธารณะ คาร์พูล หรือการให้ผลประโยชน์แก่ผู้ใช้รถไฮบริด หรือการเข้าพักที่โรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ทั้งหมดนี้คือแนวโน้มที่เราคงเคยเห็นกันมาบ้างแล้ว และจะได้เห็นบริษัทต่างๆ ทำต่อไปในปีนี้อย่างแน่นอนค่ะ