ประเมินดีมานด์ถุงใช้ซ้ำพุ่ง 410 ล้านใบปี 63

ประเมินดีมานด์ถุงใช้ซ้ำพุ่ง 410 ล้านใบปี 63

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้งดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วครั้งเดียวทิ้ง เริ่มเห็นผล คาดลดปริมาณลงราว 13,000 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่า 2,400 ล้านบาท ขณะดีมานด์ถุงเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม-ใช้ซ้ำ คาดเพิ่มเป็น 410 ล้านใบ มูลค่า 4,600 ล้านบาท ในปี63

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิจัยประเมินว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นมา เริ่มมีการประกาศงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic bag) จากความร่วมมือของภาคเอกชนรายใหญ่อย่างห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงร้านสะดวกซื้อ เพื่อจุดประสงค์ในการรักษาสิ่งแวดล้อม และคาดว่าในอนาคตการงดใช้ถุงดังกล่าวจะขยายตัวเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

โดยที่ผ่านมาปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วเฉลี่ยปีละ 45,000 ล้านใบ ประเมินว่า เมื่อได้ดำเนินการตามแผนรณรงค์จะทำให้ในปี 2563 ถุงพลาสติกดังกล่าวมีปริมาณลดลงราว 29% ของค่าเฉลี่ยการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วของคนไทย คิดเป็นประมาณ 13,000 ล้านใบ มูลค่าประมาณ 2,400 ล้านบาท ซึ่งในอนาคตที่มีการขยายความร่วมมือไปในกลุ่มตลาดสดและร้านขายของชำเพิ่มขึ้นจะเป็นผลให้เมื่อสิ้นสุดปี 2565 ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกดังกล่าวลดลงไปอย่างน้อยประมาณ 64% ของค่าเฉลี่ยการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วของคนไทย คิดเป็นจำนวนราว 29,000 ล้านใบ หรือมูลค่าประมาณ 5,300 ล้านบาท 

ดังนั้น จากการคาดการณ์จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากขยะถุงพลาสติกหูหิ้วประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง มีแนวโน้มที่จะแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะมีเพียงร้านค้าปลีกขนาดเล็กบางส่วนและผู้บริโภคบางรายที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัว เนื่องจากถุงพลาสติกยังสามารถตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภค ประกอบกับสินค้าบางประเภทยังมีความจำเป็นต้องใช้ นอกจากว่าจะสามารถหาบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามาทดแทน เช่น ถุงผ้า ถุงกระดาษ และถุงพลาสติกชนิดหนา (ใช้ซ้ำได้) เป็นต้น 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2563 จะมีความต้องการถุงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถใช้ซ้ำได้ราว 410 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,630 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2565 ภาพรวมทางเศรษฐกิจของตลาดถุงหูหิ้วเริ่มมีมูลค่าเป็นลบราว 295 ล้านบาท จากปัจจัยด้านคุณสมบัติของถุงทดแทนที่มีอายุการใช้งานที่นาน

ในภาพเดียวกันนี้ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าต่อไปในอนาคตไม่เพียงแต่สินค้าอย่างถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเท่านั้นที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทาน แต่สินค้าประเภทอื่นอย่าง หลอด แก้วพลาสติก หรือกล่องโฟมบรรจุอาหารนั้นก็กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน