กองทุนแนะจัดพอร์ต ‘หนีเสี่ยง’ หุ้นสหรัฐ-ตลาดเกิดใหม่ ‘ดาวเด่น’

กองทุนแนะจัดพอร์ต ‘หนีเสี่ยง’ หุ้นสหรัฐ-ตลาดเกิดใหม่ ‘ดาวเด่น’

นับตั้งแต่เปิดศักราชใหม่เป็นต้นมา มีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนเข้ามาต่อเนื่อง ทั้งเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน สงครามและการก่อการร้าย ภัยแล้ง และการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 ล่าช้า

และล่าสุดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่  แน่นอนว่าปัจจัยเหล่านี้น่าจะกดดันตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้  จากปีที่ผ่านมาผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับต่ำ เพียง 1.02% อยู่อันดับ “รองบ๊วย” ของภูมิภาค จากตลาดหุ้นมาเลเซียที่มีผลตอบแทนติดลบ 6.02%

การลงทุนในปีนี้ "ผู้จัดการกองทุน"ส่วนใหญ่ จึงแนะนำให้ออกไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงในภาวะตลาดผันผวน และสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ

วศิน วณิชย์วรนันต์  ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)  กสิกรไทย จำกัด แนะนำจัดพอร์ตลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนขั้นต่ำ 3%ต่อปี สำหรับลูกค้าที่รับความเสี่ยงได้น้อยที่สุด ควรมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้น 40%และตราสารหนี้ 60% ในส่วนของหุ้นแบ่งการลงทุนในหุ้นไทย50%และหุ้นต่างประเทศ 50% และหากรับความเสี่ยงได้มาก อาจปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในต่างประเทศได้อีก ตลาดหุ้นที่น่าสนใจได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐ และตลาดเกิดใหม่

นอกจากนี้ นักลงทุนสามารถใช้ “App K-My Funds”  เป็นเครื่องมือจัดพอร์ต จะมีคำแนะนำให้ลูกค้าได้กระจายการลงทุนตามความเสี่ยงที่เหมาะสมและเพิ่มโอกาสทำกำไรได้ดีกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเพียงอย่างเดียว  จากตัวอย่างการลงทุนในปีที่ผ่านมาของพอร์ต แนะนำ “กองทุนเปิดเค ฟิต แอลโลเคชั่น L(FITL)” เป็นกองทุนผสมลงทุนทั้งในและต่างประทศ  เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก  “กองทุนเปิดเค ฟิต แอลโลเคชั่น XL (FITXL )”  เน้นการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ที่มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยซึ่งคำนวณจากดัชนีอ้างอิงอยู่ที่ 7.4% ต่อปี และ 9.9% ต่อปี ตามลำดับ

สาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน  บลจ.ทิสโก้ จำกัด มองว่า ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับลงได้อีก โดยธนาคารกลางต่างๆ เริ่มดำเนินนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ เกิดเป็นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้บรรยากาศการลงทุนในหุ้นกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง  อย่างไรก็ตามหุ้นยังมีความผันผวน จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ  ทำให้เรายังชื่นชอบการลงทุนแบบเกาะ “ธีมเมกะเทรนด์” โดยแนะนำลงทุนในเทรนด์เทคโนโลยี และเฮลธ์แคร์ เพราะกำไรมีโอกาสเติบโตได้ในระยะยาว 

สำหรับกองทุนแนะนำในธีมดังกล่าว คือ "กองทุนเปิดทิสโก้ โกลบอล เทคโนโลยี อิควิตี้ (TISTECH)" และ "กองทุนเปิดทิสโก้ โกลบอล ดิจิตอล เฮลธ์ อิควิตี้ (TGHDIGI )" ที่มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีมานี้อยู่ที่ 7.88% ต่อปี และ 3.57% ต่อปี ตามลำดับ

สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง และต้องการให้มีมืออาชีพช่วยจัดพอร์ตการลงทุนแนะนำ “กองทุนเปิดทิสโก้ โกลบอล อินคัม พลัส (TGINC)” เป็นกองทุนผสม มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินต่างประเทศหลายประเภท เช่น ตราสารทุน ตราสารหนี้  ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยนักลงทุนกระจายความเสี่ยง และช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน ได้ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 14.07% และผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีมานี้อยู่ที่ 1.99%

คมสัน ผลานุสนธิ กรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาดและผลิตภัณฑ์  บลจ.แอสเซท พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ในจังหวะที่ตลาดผันผวนและมีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจากจีน เป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นจีน  มองว่าเป็นโอกาสที่จะทยอยเข้าซื้อได้ สำหรับคนที่ตกรถไฟรอบที่แล้ว  ซึ่งราคาที่ปรับตัวลงมาตั้งแต่เกิดสงครามการค้าสหรัฐกับจีน ยังกลับมาไม่ถึงครึ่งหนึ่ง อีกทั้งคาดว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาไม่น่าจะรุนแรงเท่าโรคซาร์ส  คาดว่าจะส่งผลต่อตลาดในระยะสั้น1-2เดือน

 ดังนั้นยังคงแนะนำ "กองทุนเปิดแอสเซทพลัสไชน่า (ASP-CHINA)" ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 16.12% นอกจากนี้ตลาดหุ้นต่างประเทศยังมีความน่าสนใจ ได้แก่ตลาดหุ้นสหรัฐญี่ปุ่น ยุโรป ซึ่งสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงต่างๆในปีนี้เริ่มคลี่จากปีก่อน  และตลาดหุ้นอินเดีย แม้เป็นตลาดที่ไม่หวือหวาแต่เศรษฐกิจยังเติบโตได้ระดับ 6.7%

ด้าน “บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ (ประเทศไทย)”  รายงานกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) ในปี2562 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิปิดที่ 6.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% จากปีที่แล้ว โดยกลุ่ม  "Property - Indirect Global" เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูงสุดถึง 85.1%  ซึ่งเกิดจากทั้งผลตอบแทนและความนิยมในกองทุนกลุ่มนี้ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 21% และมีขนาดทรัพย์สินใหญ่ที่สุดที่ 1.3 แสนล้านบาท แทนที่กลุ่ม Global Allocation ที่มีมูลค่าทรัพย์สินลดลงถึง17.7% ไปอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท

ทางด้านกลุ่ม “กองทุน Global Bond” แม้ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 6.2% แต่ยังมีเงินไหลออกอย่างต่อเนื่องทำให้มีมูลค่าทรัพย์สินลดลง 18.2% เหลือ 7.5 หมื่นล้านบาท และมีส่วนแบ่งตลาดกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term fund) ที่ 12%

กลุ่ม “ Global Equity” มีเงินไหลเข้าสุทธิไม่มากราว 2.6 พันล้านบาท เติบโต33.1% ทำให้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 4.8 หมื่นล้านบาท เกิดจากผลตอบแทนที่สูงถึง 19.5% (1 ปี) ทางด้านกลุ่ม  “China Equity” มีมูลค่าทรัพย์สิน 4.2 หมื่นล้านบาท สูงเป็นอันดับ 5 ของกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) โดยเพิ่มขึ้น 12.2% ซึ่งเกิดจากผลตอบแทนกองทุนเป็นหลัก เนื่องจากมีเงินไหลออกสุทธิ 3.9 พันล้านบาท ในขณะที่มีผลตอบแทนเฉลี่ย 1 ปีราว 21.9%