ม.ค. 2563 บอร์ดต่างด้าวอนุญาตต่างชาติ ลงทุนในไทย 25 ราย เงินลงทุน 912 ล้านบาท

ม.ค. 2563 บอร์ดต่างด้าวอนุญาตต่างชาติ ลงทุนในไทย 25 ราย เงินลงทุน 912 ล้านบาท

ที่ประชุมคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อนุญาตให้ต่างด้าวเข้ามาลงทุนในไทยเดือนมกราคม 25 ราย เงินทุน 912 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 63 นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 22 มกราคม 2563 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติลงทุนภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 25 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเยอรมนี ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 912 ล้านบาท และส่งเสริม ให้เกิดการจ้างงานคนไทย 260 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน

การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยในกระบวนการขุดลอกร่องน้ำและแอ่งจอดเรือ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบกันสั่นสะเทือนสำหรับรถจักรยานยนต์ องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการ Cargowise เพื่อการจัดการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการขึ้นรูป การอบร้อน และการพ่นชุบเคลือบสีของชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อการให้บริการโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต เป็นต้น สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่

1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 14 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี และสก๊อตแลนด์ มีเงินลงทุนจำนวน 678 ล้านบาท อาทิ บริการรับจองระวางเรือหรือระวางเครื่องบินสำหรับการขนส่งระหว่างประเทศทางทะเลและทางอากาศบริการฝึกอบรมวิธีการซ่อมแซม การบำรุงรักษารถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ บริการให้คำปรึกษา แนะนำและบริหารจัดการงานด้านการตลาด ด้านธุรการ ด้านทรัพยากรบุคคล ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านการตรวจสอบควบคุมภายในกิจการตัวแทนในการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า

2. ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง จำนวน 4 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และอินโดนีเซีย มีเงินลงทุนจำนวน 35 ล้านบาท ได้แก่การค้าปลีกอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการรับส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต การค้าส่งรองเท้ากีฬาและรองเท้าผ้าใบ การค้าส่งชิ้นส่วนของระบบกันสะเทือน (Damper) สำหรับรถจักรยานยนต์ การค้าส่งไอศกรีม โยเกิร์ต และผลิตภัณฑ์นม

3. คู่สัญญากับเอกชน จำนวน 2 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ และเบลเยี่ยม มีเงินลงทุนจำนวน 161 ล้านบาท ได้แก่บริการจัดหา ก่อสร้าง และติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับการก่อสร้างโรงแรม บริการขุดลอกบำรุงรักษาร่องน้ำและแอ่งจอดเรือที่บริเวณท่าเทียบเรือ

4. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 5 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศมาเลเซียฮ่องกง และสิงคโปร์ มีเงินลงทุนจำนวน 38 ล้านบาท อาทิ บริการให้คำปรึกษาแนะนำทางวิศวกรรม บำรุงรักษา ซ่อมแซม รวมทั้งการจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ บริการเป็นผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน อาคารสำนักงานและอาคารเก็บสินค้าบางส่วน รวมทั้งห้องปฏิบัติการที่ใช้สำหรับทดสอบสีและเคมีภัณฑ์บริการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง และบริการอินเทอร์เน็ตแบบที่หนึ่ง ประเภทไม่มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง

ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2563 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน คิดเป็นร้อยละ 4 โดยมีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจที่สนับสนุนการทำงานของบริษัทในเครือในกลุ่มให้มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ธุรกิจที่ส่งเสริมตลาดทุน รวมถึงประกอบธุรกิจซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ ดังตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น