ปีที่ 'สินค้าไทย' ควรได้ส่งออกออนไลน์ของจริง

ปีที่ 'สินค้าไทย' ควรได้ส่งออกออนไลน์ของจริง

ทิศทางการค้าไทยในปีนี้ แม้จะเจอปัจจัยลบหลากด้าน แต่ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกจากภาคการส่งออก "ออนไลน์" อานสงส์จากช่วงปลายปีที่ผ่านมา กลุ่มอาลีบาบาได้เข้ามาลงทุนแวร์เฮ้าส์ในอีอีซี ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทย

ปลายปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้พบกับตัวแทน Amazon.com ในประเทศไทย ที่ตอนนี้เริ่มบุกเข้ามาในตลาดไทยมากขึ้น และมุ่งที่จะนำผู้ประกอบการไทยออกไปขายของในตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดอเมริกาและสิงคโปร์ เขามองว่าสินค้าไทยยังมีโอกาสสูงที่จะขายได้ในอีกหลายๆ ตลาด

ประเทศไทยแม้ว่าจะมีสินค้าดีอยู่มาก แต่ยังติดขัดในด้านระบบที่จะนำออกไป โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์หรือ Cross Border ซึ่งที่จริงแล้วสินค้าไทยเป็นที่ต้องการในตลาดเพื่อนบ้าน อย่างลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า หรือแม้กระทั่งในจีนเอง สินค้าบางประเภทของเราก็เป็นที่นิยมมีวางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่เต็มไปหมด

ที่ผ่านมามีบางคนที่เห็นโอกาสนี้จึงมีการนำสินค้าไทยออกไปขายต่างประเทศผ่านทางเว็บไซต์อย่าง eBay หรือ Amazon รวมถึง Alibaba ซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อยทีเดียว และดูเหมือนว่าในปีนี้การขายแบบ Cross Border หรือการนำสินค้าไทยออกไปขายต่างประเทศด้วยช่องทางออนไลน์นี้ จะได้รับความสนใจและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

รัฐควรให้ความร่วมมือ และสนับสนุนบรรดาผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยด้วยกัน

ผมเห็นว่าภาครัฐควรให้ความร่วมมือและสนับสนุนบรรดาผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยด้วยกัน และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้โดยเฉพาะ และเมื่อช่วงปลายปี 2562 มีการพูดถึงการยกเว้นภาษีขาเข้า หรือการให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ที่มีแวร์เฮ้าส์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งทราบกันดีแล้วว่ากลุ่มอาลีบาบาเป็นผู้ที่เข้ามาลงทุนหลักในด้าน Infrastructure มีการสร้างแวร์เฮ้าส์เพื่อเก็บสินค้าและเป็นจุดกระจายสินค้าให้ออกไปทั่วอาเซียน

การให้สิทธิพิเศษไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรขาเข้านี้ อาจดูเหมือนเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้มาลงทุนใน EEC แต่หากถามว่า ได้เปรียบมากหรือไม่ ผมมองว่าก็ไม่ได้มากนัก ผมมองว่าภาครัฐคงพยายามให้ประโยชน์อะไรกับเขาบ้างแลกกับการแบกเงินมาลงทุนเป็นหมื่นล้าน

แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าก็คือ ปัจจุบันจำนวนสินค้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจีน ที่มีอยู่ในมาร์เก็ตเพลสใหญ่
ทั้งสามของไทยคือ Lazada, Shopee และ JD Central (JSL) มีอยู่ถึง 135 ล้านชิ้น คิดเป็น 77%
ในขณะที่ของผู้ค้าไทยมีอยู่ 39 ล้านชิ้น หรือ 23% เท่านั้น เห็นได้ว่าขณะนี้สินค้าจีนบุกเข้ามาในตลาดอย่างมาก
และสามารถขนส่งได้เร็วยิ่งขึ้น ปัจจัยเสริมส่วนหนึ่งมาจากการเปิดของ EEC นั่นเอง

ในช่วงต้นปีผมมีโอกาสได้เข้าพบเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ดร.คณิศ แสงสุพรรณ พูดคุยกันถึงเรื่องของธุรกิจของจีนทางออนไลน์ และผลกระทบต่อธุรกิจ และเศรษฐกิจของไทย เพราะมีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง

นอกจากนี้ยังได้มีการพูดถึงแนวทาง กลยุทธ์ การสนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทยให้ในการแข่งขัน รวมไปถึงการเพิ่มโอกาสในการส่งออกให้มากขึ้น ซึ่งได้ทราบว่าทาง EEC เอง กำลังประสานกับต่างประเทศอย่างระมัดระวังในการเจรจา เพื่อให้เกิดโซลูชั่นที่ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย

ทราบว่าทางจีนเองก็เปิดรับข้อเสนอให้ไทยใช้ Infrastructure ของเขาเป็นช่องทางนำสินค้าออกไปจีนได้ ซึ่งขณะนี้ผมและทาง EEC กำลังเตรียมแผนที่จะผลักดันสินค้าไทยออกไปจีนโดยใช้ความร่วมมือที่มีกับทางกลุ่ม Alibaba โดยผมร่างโครงการไว้หลายโครงการ และได้เริ่มพูดคุยเพื่อให้เห็นภาพไปแนวทางเดียวกัน ยังต้องมีการพูดคุยลงลึกในรายละเอียดกันมากกว่านี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน และผลักงานนี้เข้าสู่สมาคม E-Commerce ต่อไป

หวังว่าโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการไทย ในการนำสินค้าไปขายในจีนได้มากขึ้น ด้วยการสนับสนุนจาก EEC และภาครัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้ พวกเราต้องช่วยๆ กันครับ