ส่องรัฐธรรมนูญสหรัฐให้อำนาจ 'ทรัมป์' ประกาศสงครามได้แค่ไหน

ส่องรัฐธรรมนูญสหรัฐให้อำนาจ 'ทรัมป์' ประกาศสงครามได้แค่ไหน

ส่องรัฐธรรมนูญสหรัฐให้อำนาจ 'ทรัมป์' ประกาศสงครามได้แค่ไหน ขณะที่การกระทำที่เข้าข่ายยั่วยุให้เกิดสงครามกับอิหร่านของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังถูกตั้งคำถามว่าเป็นการกระทำที่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐหรือไม่

ตามบทบัญญัติที่หนึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญของสหรัฐ รัฐสภามีอำนาจในการประกาศสงคราม ขณะที่รัฐธรรมนูญบทที่สองกำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพ โดยผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญมีเจตนาให้มีการแยกและถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายต่าง ๆ เพื่อป้องกันการนำประเทศเข้าสู่สงครามโดยปราศจากการไตร่ตรอง หรือด้วยการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว แต่ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน ฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารมักจะขัดแย้งกันเสมอในการตีความเรื่องอำนาจการประกาศและทำสงครามตามรัฐธรรมนูญ

ครั้งสุดท้ายที่รัฐสภาสหรัฐ ลงมติอย่างเป็นทางการประกาศเรื่องการทำสงครามคือเมื่อประมาณ 80 ปีก่อน เมื่อสหรัฐเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง แต่สำหรับความขัดแย้งในระดับภูมิภาคอื่น ๆ ที่สหรัฐมีส่วนร่วมเช่น ในเกาหลีและเวียดนาม แม้จะมีรูปแบบเป็นสงครามอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ ทว่าสหรัฐไม่ได้มีการประกาศเข้าสงครามอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

เมื่อปี2516 หรือเมื่อ 47 ปีก่อน สภาคองเกรสได้ออกกฏหมายชื่อวอร์ พาวเวอร์ส แอค( War Powers Act )หรือรัฐบัญญัติอำนาจในการทำสงคราม เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ของประธานาธิบดีสหรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารในต่างประเทศ กฎหมายฉบับนี้ เป็นผลจากการที่ประธานาธิบดีนิกสันซึ่งบริหารประเทศในขณะนั้น สั่งให้กองทัพสหรัฐแอบทิ้งระเบิดถล่มเป้าหมายในกัมพูชาในช่วงสงครามเวียดนามอย่างลับ ๆ

กฎหมายดังกล่าว กำหนดว่าประธานาธิบดีต้องรายงานต่อรัฐสภาภายใน 48 ชั่วโมง หลังจากที่ส่งกำลังทหารสหรัฐไปปฏิบัติภาระกิจในต่างประเทศ และจะต้องมีคำอธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับการตัดสินใจดังกล่าว และกฎหมายนี่ ที่ถูกร่างออกมาเมื่อปี 2516 มีเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่า จะมีการตัดสินใจร่วมกันโดยสภาคองเกรสกับประธานาธิบดีในประเด็นส่งทหารอเมริกันไปรบในต่างประเทศ รวมทั้งกำหนดว่า ผู้นำฝ่ายบริหารจะต้องยุติบทบาททางทหารในต่างแดนหลังจาก 60 วัน หากรัฐสภาไม่มีมติประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่ว่าจะมาจากพรรคเดโมแครต หรือพรรครีพับลิกัน มักท้าทายและตีความกฎหมายนี้แตกต่างไปจากการตีความของรัฐสภา และในปี 2544 มีการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในสหรัฐ ซึ่งประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ระบุว่าเป็นการกระทำในทางมุ่งร้ายที่ยั่วยุให้เกิดสงคราม รัฐสภาสหรัฐจึงได้ผ่านกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่มีชื่อว่า Authorization for Use of Military Force หรือกฎหมายเอยูเอ็มเอฟ เพื่ออนุมัติให้ใช้กำลังทหารต่อสู้กับภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายระหว่างประเทศได้ ทั้งที่เป็นบุคคลหรือเป็นองค์กร

157852758599

ทว่ากฎหมายฉบับนี้ ยิ่งทำให้เกิดการโต้เถียงกันเรื่องการใช้อำนาจของประธานาธิบดีมากขึ้น เพราะทั้งประธานาธิบดีบุช ประธานาธิบดีบารัก โอบามา และประธานาธิบดีโดนทรัมป์ ต่างได้ตีความเรื่องภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายในวงกว้างเพื่อใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนเรื่องการใช้กำลังทหารสหรัฐในต่างประเทศ

157852759833

ส่วนกรณรีการสังหารนายพลกาเซ็ม โซไลมานี ผู้นำของกองทัพอิหร่านครั้งนี้ แม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะไม่ได้อ้างอำนาจตามกฏหมายเอยูเอ็มเอฟ เรื่องการดำเนินการกับผู้ก่อการร้าย ที่รัฐบาลสหรัฐเคยประกาศให้นายพลโซไลมานีเป็นผู้ก่อการร้ายก็ตามแต่นักวิเคราะห์การเมืองตะวันออกกลางอย่างคริสเต็น ฟอนเทนโรส ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นบ่งชี้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ใช้อำนาจตามกฏหมาย War Powers Act ฉบับเดิม โดยเมื่อวันเสาร์(4ม.ค.) หนึ่งวันหลังการสังหารนายพลโซไลมานีแล้ว รัฐบาลสหรัฐได้แจ้งเรื่องนี้ต่อสภาโดยอ้างเหตุผลจากข่าวกรองเกี่ยวกับการวางแผนโจมตีโดยอิหร่านที่กำลังจะเกิดขึ้น

ต่อมา ในวันอาทิตย์ (5ม.ค.) ทวีตของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ถูกมองว่าเป็นการอ้างแบบอ้อม ๆ เกี่ยวกับกฎหมาย War Powers Act ที่กำหนดให้ผู้นำฝ่ายบริหารต้องรายงานต่อสภาภายใน 48 ชั่วโมง โดยประธานาธิบดีทรัมป์ใช้ถ้อยคำว่าการทวีตข้อความทางสื่อประเภทนี้ จะเป็นการแจ้งต่อรัฐสภาว่า หากอิหร่านโจมตีเป้าหมายใดของสหรัฐ รัฐบาลสหรัฐก็จะโจมตีตอบโต้อย่างเต็มที่และโดยเร็วโดย อาจจะเป็นในสัดส่วนที่มากกว่าด้วย และถึงแม้การแจ้งตามกฏหมายจะไม่จำเป็น แต่ตนก็ได้แจ้งเรื่องนี้แล้วทางสื่อโซเชียลคือทวิตเตอร์

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมองต่างมุมออกไปและไม่เชื่อว่าการประกาศข้อความทางทวีตจะเข้าตามข้อกำหนดเรื่องการแจ้งต่อสภาของกฎหมาย War Powers Act และ ส.ส.แนนซี พิโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เตือนว่า สภานิติบัญญัติของสหรัฐ มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหาร และหากไม่มีการลงมติรับรองใด ๆ จากสภาแล้ว ท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ของกองทัพสหรัฐต่ออิหร่าน จะต้องยุติลงภายใน 30 วัน

ขณะที่ผลสำรวจความเห็นของรอยเตอร์ส/อิปซอส ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (7ม.ค.)บ่งชี้ว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญคัดค้านการกระทำของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ทำให้เกิดสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่านมากขึ้น และชาวอเมริกันส่วนใหญ่ คาดการณ์ว่าใกล้จะเกิดสงครามมากขึ้นเรื่อยๆ

157852761871

ผลสำรวจความเห็นของชาวอเมริกันครั้งนี้ บ่งชี้ว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นผู้ใหญ่ 53% ไม่เห็นด้วยกับวิธีการจัดการความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่านของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นถึง 9% จากการสำรวจเดียวกันเมื่อช่วงกลางเดือนธ.ค.ปีก่อน ขณะที่จำนวนชาวอเมริกันที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อท่าทีของทรัมป์ต่ออิหร่าน อยู่ที่ 39% เพิ่มขึ้นถึง 10% จากเดือนที่แล้ว

ส่วนความเห็นของชาวอเมริกันต่อการจัดการความบาดหมางกับอิหร่านแตกต่างกันไป โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 90% สนับสนุนพรรคเดโมแครต คัดค้านการแก้ปัญหาของทรัมป์ ขณะที่ 80% ของชาวอเมริกันที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันที่ทรัมป์สังกัด สนับสนุนท่าทีของทรัมป์ต่ออิหร่าน

157856422397