นวัตกรรม 'นาฬิกาวัดโรคพาร์กินสัน'

นวัตกรรม 'นาฬิกาวัดโรคพาร์กินสัน'

สวรส.โชว์นวัตกรรมวิจัยพร้อมใช้ "แผ่นปิดแผลเรื้อรัง ไฟโบรอินจากรังไหม" และ "เครื่องมือตรวจ-ติดตามผู้ป่วยพาร์กินสัน" เชื่อมสู่ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ หวังเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นำเสนอผลงานวิจัยพร้อมใช้ 2 ผลงาน ได้แก่ "เครื่องคัดแยกโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติจากสัญญาณการสั่น" และ "วัสดุปิดแผลเบาหวาน ไฟโบรอินที่ผสมสารสกัดจากวุ้นว่านหางจระเข้" ในเวทีไทยแลนด์ เทค โชว์ 2562 ที่จัดขึ้นในรูปแบบตลาดเทคโนโลยีและนวัตกรรม เปิดโอกาสให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานกับนักลงทุน สตาร์ทอัพและผู้ที่สนใจ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยในภาคเอกชน

ผลงานแรก เครื่องคัดแยกฯ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน และกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นเครื่องวัดการสั่นสำหรับการวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน มีลักษณะคล้ายนาฬิกาข้อมือ สามารถบันทึก วิเคราะห์ และแสดงผลจากการสั่นที่สามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน แยกจากโรคอื่นที่มีลักษณะการสั่นใกล้เคียงกัน

เครื่องวัดการสั่นดังกล่าว แพทย์ทั่วไป ที่ไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท สามารถใช้ตรวจวัดอาการสั่นเพื่อการวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง และสามารถติดกับตัวผู้ป่วยตลอดเวลา ทำให้สามารถวัดการเคลื่อนไหวได้ทุกช่วง และติดตามประเมินผลการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

157847255278                เครื่องวัดการสั่นสำหรับการวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน ภาพจาก : สวรส.

ผลงานถัดมา วัสดุปิดแผลเบาหวานฯ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นวัสดุทางการแพทย์ในรูปวัสดุปิดแผล ที่ประกอบด้วยไฟโบรอินจากรังไหม และสารสกัดจากวุ้นว่านหางจระเข้สามารถรักษาแผลเรื้อรังเบาหวานให้หายเร็วขึ้น และลดการอักเสบ สะดวกต่อการใช้งาน

นอกจากนั้นกระบวนการผลิตสารสกัดและวัสดุปิดแผล ไม่มีการใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ที่ใช้พลังงานสูง จึงไม่สร้างมลภาวะ ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติที่มีแหล่งการผลิตภายในประเทศ และมีราคาถูก ต้นทุนผลิตภัณฑ์ลดลง ส่งผลให้เกิดความเป็นไปได้ในการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น

157847270640                วัสดุปิดแผลเบาหวาน ภาพจาก : สวรส.


ผศ.นพ.ศรัณย์ วรศักดิ์วุฒิพงษ์ ผู้ร่วมทีมวิจัย กล่าวว่า วัสดุปิดแผลเบาหวานไฟโบรอินฯ ได้ทำการทดลองในกลุ่มผู้ป่วยที่มีแผลเบาหวานเรื้อรัง และมีขนาดแผลที่แตกต่างกันไป ผลการทดลองเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า ระหว่างใช้วัสดุปิดแผล ขนาดของแผลจะค่อยๆ ลดลงและมีเนื้อใหม่เพิ่มขึ้น จนกระทั่งแผลหายสนิทในเวลาที่รวดเร็วขึ้น โดยไม่ต้องทำแผลบ่อยๆ การทำแผล 1 ครั้ง สามารถอยู่ได้ 3-7 วัน

วัสดุฯที่พัฒนาขึ้นมีความแข็งแรง ยืดหยุ่น สามารถโค้งงอทาบไปกับแผลได้ และดูดซับน้ำได้ถึงประมาณ 44% ซึ่งภายหลังจากการดูดซับน้ำ จะยืดหยุ่น และคงรูปแนบติดไปกับแผลที่มีความลึกได้ดี สามารถลดอัตราการติดเชื้อได้ เนื่องจากวุ้นว่านหางจระเข้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

งานดังกล่าวนับเป็นรูปแบบของการขับเคลื่อนงานวิจัย ที่เชื่อมโยงให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่อนุญาต ให้ใช้สิทธิผลงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ในการผลิต จำหน่าย หรือการประกอบธุรกิจแบบไม่สงวนสิทธิ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศ