'หนี้ท่วมโลก-สงคราม' ปัจจัยหนุน 'ทองคำ' ขาขึ้น

'หนี้ท่วมโลก-สงคราม' ปัจจัยหนุน 'ทองคำ' ขาขึ้น

สินทรัพย์ลงทุน (Asset class) ที่ร้อนแรงและถูกพูดถึงกันมาที่สุดในเวลานี้ คงจะหนีไม่พ้น ‘ทองคำ’ ซึ่งใช้เวลาเพียง 11 วัน (ทำการ) สำหรับการวิ่งขึ้นถึง 100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ มาแตะระดับ 1,578 ดอลลาร์ต่อออนซ์

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาอย่างรวดเร็วในลักษณะนี้ ย่อมต้องมีปัจจัยพิเศษเข้ามากระตุ้น โดยครั้งนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องความเสี่ยงของสงครามระหว่าง ‘สหรัฐ’ และ ‘อิหร่าน’ ที่ร้อนระอุมาตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา

หลังจากสหรัฐตัดสินใจส่งโดรนติดอาวุธเข้าไปสังหาร พลตรี ซูลีมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษของอิหร่าน ทำให้ผู้นำของอิหร่านต่างออกมาประกาศว่าต้องการจะตอบโต้การกระทำในครั้งนี้ของสหรัฐ

ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นมาในทันทีในวันนั้นประมาณ 25 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกเกือบ 30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในวันถัดมา

ทุกครั้งที่มีความเสี่ยงในเรื่องของสงคราม ราคาทองคำก็มักจะพุ่งขึ้นมาดังเช่นที่เห็นกันอยู่ แต่หากย้อนกลับไปดูกันจริงๆ จุดเริ่มต้นของการปรับตัวขึ้นในรอบนี้ดำเนินมาตั้งแต่ปลายปี 2561

ทศวรรษแห่งความรุ่งเรืองของราคาทองคำอยู่ในช่วงปี 2544 – 2554 ราคาแทบจะวิ่งขึ้นม้วนเดียวจบ จากประมาณ 300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทะยานขึ้นไปถึงระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ คิดเป็นผลตอบแทนราวๆ 500% ก่อนที่ราคาจะปรับฐาน และค่อยๆ ซึมลงมาอยู่ในกรอบ 1,100 – 1,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ยาวนานถึง 5 - 6 ปี

หลังจากที่ราคาพยายามวิ่งขึ้นทดสอบแนวต้านอยู่ 3 – 4 ครั้ง สุดท้ายก็ทะลุผ่านขึ้นมาได้ในที่สุดเมื่อกลางปี 2562 ทำให้ราคาทองคำกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้งจากการปรับตัวขึ้นมาเกือบ 400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี

ปัจจัยพื้นฐานที่มักจะสนับสนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้น คือ ผลตอบแทนของสินทรัพย์ลงทุนหลักต่ำลง และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์

ช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าผลตอบแทนของตราสารหนี้ลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก ซึ่งบางประเทศถึงกับติดลบไปแล้ว ในส่วนนี้ทำให้ต้นทุนในการถือครองทองคำลดลงไปมาก จากเดิมซึ่งจะมีต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการนำเงินไปลงทุนเพื่อรับดอกเบี้ยหรือเงินปันผล

ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงจากการพิมพ์เงินอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นส่วนผลักดันให้นักลงทุนหันมาถือครองทองคำเพิ่มขึ้น

...แต่ปัจจัยที่สำคัญไปมากกว่านั้น และดูเหมือนว่าผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการลงทุนจะให้น้ำหนักและจับตาดูกันอย่างใกล้ชิด คือ ปริมาณหนี้ทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากรายงานของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) ณ ครึ่งปีแรกของปี 2562 ปริมาณหนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 7.5 ล้านล้านดอลลาร์ ไปทำสถิติใหม่ที่ 250.9 ล้านล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 255 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปีที่ผ่านมา ขณะที่ GDP รวมของทั้งโลกจากข้อมูลของเว็บไซต์ Statista อยู่ที่เพียงประมาณ 86 ล้านล้านดอลลาร์

ประมาณ 60% ของปริมาณนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจากสหรัฐและจีน ส่วนประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ก็มีหนี้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 71.4 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นประมาณ 220% ของ GDP

157832523188

ปริมาณหนี้มหาศาลที่ไหลเวียนอยู่ในระบบขณะนี้ เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่รอวันปะทุออกมา เพราะเมื่อใดก็ตามที่สภาพคล่องชะงัก เท่ากับว่าการผิดนัดชำระหนี้จะกระจายไปทั่วโลก และเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่

ตัวอย่างหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างหนี้และราคาทองคำในอดีตที่ผ่านมา ระหว่างปี 2543 – 2561 ปริมาณหนี้ของสหรัฐและราคาทองคำต่างเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันถึง 87% ทว่า ตั้งแต่ปี 2555 ราคาทองคำกลับร่วงลงสวนทางกับหนี้ของสหรัฐที่ยังเพิ่มต่อเนื่อง

Asif Hirani ผู้อำนวยการ Tradebulls Group มองว่า การวิ่งสวนทางของราคาทองคำและปริมาณ เริ่มตั้งแต่สหรัฐทำคิวอีด้วยมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งสภาพคล่องที่เพิ่มเข้ามาถูกโยกย้ายจากทองคำไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น แต่เมื่อสกุลเงินต่างๆ เริ่มเสื่อมค่าลงจากการพิมพ์เงินที่มากเกินไป ทองคำจึงเริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้งในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe haven)

จากข้อมูลของสภาทองคำโลก (World Gold Council) พบว่า ธนาคารกลางทั่วโลกมีสถานะซื้อสุทธิในทองคำต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2561 เป็นการซื้อสุทธิ 651 เมตริกตัน สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2514

หนึ่งในมุมมองที่น่าสนใจจาก “ธนาคารกลางเนเธอร์แลนด์” ล่าสุด คือ “หากระบบการเงินพังลงมา ทองคำจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างระบบขึ้นมาใหม่”