ผ่าแผน “มุ่งพัฒนาฯ” ปั๊ม Growth story 3 ปี 

ผ่าแผน “มุ่งพัฒนาฯ” ปั๊ม Growth story 3 ปี 

“มุ่งพัฒนา อินเตอร์แนชชั่นแนล” ดำเนินธุรกิจมากว่า 38 ปี มีสินค้าที่ทำตลาดเป็นที่รู้จักกันดีอย่างจุกนม ขวดนมฯ ภายใต้แบรนด์จากญี่ปุ่น “พีเจ้น” ตอบสนองความต้องการของแม่และเด็ก

ที่ปัจจุบันอัตราการเกิดน้อย และยุคสมัยเปลี่ยน การสร้าง “พอร์ตโฟลิโอ” เป็นสิ่งสำคัญ เพราะสินค้าจะไม่โตเพียง 1 แบรนด์ หรือมีโปรดักท์ฮีโร่ตัวเดียวแล้วกอบโกยขุมทรัพย์ส่วนแบ่งทางการตลาดในระยะยาว ทำให้ต้องปรับตัว มีสินค้าใหม่ที่หลากหลายมากขึ้น

ธุรกิจไม่ว่าเจอปัจจัยลบหรือบวกการเติบโตต้องมีต่อเนื่อง สุวรรณา โชคดีอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มุ่งพัฒนา อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เล่าแผน 3 ปีของบริษัท วางหมากรบ Growth Story รักษาโมเมนตัมการเติบโตในอัตรา 2 หลักเหมือนหลายปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญ บริษัทมีเป้าหมายในการผลักดันยอดขายให้แตะระดับ 1,800 ล้านบาท จากปัจจุบันรายได้อยู่ที่ราว 1,000 ล้านบาท ส่วนสินค้าที่มีในพอร์ตโฟลิโอจะต้องติด ท็อป 3 ในทุกหมวด(แคทกอรี)ที่แบรนด์ทำตลาด

เกมกลยุทธ์ Growth Story ไม่ง่าย! เพราะมี “โอกาส” แต่ “อุปสรรค” ก็จ่อโจมตีเป็นระยะ เช่น สินค้าหลักที่ทำยอดขายให้บริษัทคือพีเจ้น เผชิญอัตราการเกิด “ลดลง” ทุกปี เป็นต้น

ทว่า วิเคราะห์เทรนด์ตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคในอดีต เพื่อคาดการณ์อนาคต เห็นเค้าลางต่างๆจึงวาง Growth Factors ติดปีกโต ประกอบด้วย 1.รักษาความแข็งแกร่งของพีเจ้นให้ “ยืนหนึ่ง” เป็นผู้นำตลาด ปรับกระบวนการออออกสินค้าที่ต้องส่งตรงไปยังญี่ปุ่น เป็นการผนึกทีมงานไทยและสิงคโปร์ทำงานควบคู่กันเพื่อวิจัยและพัฒนาสินค้าป้อนตลาดเร็วขึ้นเป็ร 6 เดือน หรือ 1 ปี จากเดิมใช้เวลา 2 ปี สินค้ามีความ Localize กับตลาดเป้าหมายแต่ละประเทศยิ่งขึ้น

2.ปรับสูตรรบ ด้วยการขยายไลน์สินค้าเจาะเซ็กเมนต์ใหม่ๆในกลุ่มสุขภาพ อาหารและเครื่องดื่ม สร้างแบรนด์ใหม่ของตนเอง(Own Brand) ช่วยกระจายความเสี่ยงพอร์ตสินค้าควบคู่ตอบสนองความต้องการกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล เช่น สำลี ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวสำหรับผู้ใหญ่ แปรงสีฟัน และสบู่โฟมอาบนํ้า “วีแคร์” (Vcare) ผลิตภัณฑ์กระบอกฉีดน้ำ “ฟ๊อกกี้” (Foggy) สไมล์วี (Smile V) และนมอัดเม็ด “มิลค์มี”(Milk me) เป็นต้น

ไม่ว่าบริษัทไหน ไม่สามารถโตด้วยสินตค้าเพียงพอร์ตโฟลิโอเดียว หลายปีที่ผ่านมาเราพยายามสร้างพอร์ตแต่ละกลุ่มให้มีสินค้าหลากหลาย เราพยายามสร้างสินค้าตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย

แม้เด็กเกิดน้อย แต่พีเจ้นโตทุกปี ขณะที่การปรับพอร์ตสินค้าครั้งนี้ ต้องการผลักดันสัดส่วนยอดขายพีเจ้นให้อยู่ที่ 60% จากปัจจุบันกว่า 70% สินค้าแบรนด์ตนเอง รวมถึงการจัดจำหน่าย และอื่นๆอยู่ที่ 40%

3.ขยายช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ เช่น ร้านค้าเพื่อสุขภาพ ออนไลน์ ฟู้ดเซอร์วิสที่ครอบคลุม โรงพยาบาล โรงแรม โรงเรียน ร้านค้า สถานเสริมความงาม โรงงานอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ มุ่งขยายตลาดพีเจ้นเจาะต่างประเทศมากขึ้น เน้นกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนามหรือกลุ่ม CLMV อินโดนีเซีย เป็นต้น

“ญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดน้อย และเป็นสังคมสูงอายุ ส่วนเศรษฐกิจโลกก็ไม่ส่งผลบวกต่อตลาด ขณะที่ตลาดอาเซียนเติบโตดีกว่า พีเจ้นจึงโฟกัสตลาดนี้ อย่างอินโดนีเซียประชากรเยอะ ตลาดจุกนม ขวดนมยังเติบโตได้อีก เช่นเดียวกับตะวันออกกลาง เด็กแรกเกิดมีจำนวนมาก รวมถึงอินเดีย ซึ่งอนาคตจำนวนประชากรอาจแซงจีน เด็กเกิดมาก แต่การทำตลาดยาก ทำให้ความคาดหวังยอดขายมาอยู่ที่อาเซียน”

ขณะที่ปี 2563 บริษัทหวังโอกาสโต ก้าวกระโดด” หลังจากได้เป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับสินค้าแผ่นรองซับสำหรับเด็กและผู้ใหญ่แบรนด์ ซอฟเทค” มาเสริมทัพ โดยสินค้ามีจุดแข็งจากการเป็นแบรนด์ Top 2 ซึ่งผู้บริโภครู้จักอย่างดี รวมถึงมีส่วนแบ่งตลาดมาก ทำให้ฐานรายได้โตกว่าปีก่อนมาก

“การได้สินค้าแบรนด์ที่ติดตลาดเป็นเบอร์ 1-2 ยอดขายดีอยู่แล้ว เมื่อเป็นตัวแทนจำหน่าย สร้างการรับรู้แบรนด์ต่อ ทำการตลาดให้โดนใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย จะช่วยเสริมฐานรายได้บริษัทโดยอัตโนมัติ จากปี 2562 ไม่มี ปีนี้ก็มาเต็ม”

สุวรรณา บอกด้วยว่า อีกกลยุทธ์ที่ขาดไม่ได้ หากต้องการโตในยุคนี้แบบ “สปีด คือการมีพันธมิตร จึงมองโอกาสในการซื้อและควบรวมกิจการ(M&A) ซีนเนอร์ยีซึ่งกันและกันด้วย

“การทำธุรกิจคนเดียวจนโตเป็นร้อยปี ไม่มีพันธมิตรยุคนี้โตและแข่งขันยาก เราจึงต้องหาพาร์ทเนอร์ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างการเติบโต ส่วนพันธมิตรที่อยากได้ต้องเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์(Strategic partnership) เพิ่มคุณค่าให้แก่กัน ไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนแข็งแกร่งอย่างเดียว แต่เราเปิดกว้างทั้งผู้ที่มีแบรนด์ มีสินค้าสอดคล้องกับบริษัท จับมือกันแล้วต้นทุนต่ำลง บริหารธุรกิจสเกลใหญ่ขึ้น เพื่อต่อยอดจากจุดแข็งของบริษัทที่มีทั้งด้านการทำตลาด การจัดจำหน่าย”