'แบงก์กรุงศรี'เตรียมเปิด‘อีมาร์เก็ตเพลส’พ.ย.นี้ 

'แบงก์กรุงศรี'เตรียมเปิด‘อีมาร์เก็ตเพลส’พ.ย.นี้ 

 "กรุงศรี" จ่อเปิดตัวอีมาร์เก็ตเพลส บนโมบายแอพ KMAภายในพ.ย.นี้ หวังเรียนรู้พฤติกรรมลูกค้า เพิ่มฐานข้อมูลบิ๊กดาต้า  ต่อยอดรายได้ พร้อมเปิดให้บริการซื้อประกันเดินทางผ่านแอพสิ้นปี ก่อนปีหน้าลุยบริการเปิดสินเชื่อออนไลน์ ดันลูกค้าใหม่เพิ่มเท่าตัว 

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่า ภายในเดือนพ.ย.นี้ ธนาคารจะเปิดตัว KMA Marketplace หรืออีมาร์เก็ตเพลส บนโมบายแอพพลิเคชั่น KMA โดยธนาคารได้ดีลกับพันธมิตรทางธุรกิจ นำร่องนำสินค้าต่างๆมาขายผ่านโมบายแบงกิ้ง เช่น การจับมือกับ เมเจอร์ แมคโดนัล เดอะพิซซ่า ฯลฯ นอกจากนี้ในเดือนธ.ค. จะเปิดให้มีการซื้อประกันเดินทางผ่านแอพ  สามารถซื้อได้ทั้งเจ้าของบัญชี KMA และซื้้อให้บุคคลอื่นด้วย โดยสามารถซื้อได้สุูงสุดถึง 5 กรมธรรม์

ทั้งนี้ การเปิดฟีเจอร์ใหม่ เช่น อีมาร์เก็ตเพลส จะทำให้ธนาคารรู้จักกับลูกค้ามากขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยี API  ,AI  และ DATA มาช่วยให้ธนาคารสามารถเจาะพฤติกรรมลูกค้าได้มากขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า หรือนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆได้ในอนาคต รวมถึงช่วยในการสร้างรายได้ใหม่ๆให้กับแบงก์ในอนาคต

“เราอยากรู้จักลูกค้ามากขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยี เข้ามาช่วยในการรู้จักลูกค้า โดยใช้ KMA ให้เป็นประโยชย์ ทำให้เรารู้ข้อมูลบางอย่างเพิ่มขึ้นด้วย เช่นการซื้อตั๋ว กี่คน หากซื้อหลายใบ ก็แปลว่า มีครอบครัว หรือเป็นโสด เป็นต้น เพราะต่อไปบิ๊กดาต้าจะสำคัญกับธนาคารมากสามารถนำไปต่อยอดต่อไปได้  โดยจำนวนบัญชี หรือยูสเซอร์จะไม่มีความหมายนัก หากไม่สามารถนำไปต่อยอดต่อได้ ดังนั้นเราจึงเริ่มทำสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้มีบิ๊กดาต้า อนาคตจะโมบายแบงกิ้งจะไม่ใช่แค่แอพฯที่ทำทรานแซกชั่นแบงก์เท่านั้น แต่จะเป็นมาร์เก็ตติ้งเต็มรูปแบบ”

เขากล่าวต่อว่า คาดว่าภายในพ.ย.นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะอนุญาตให้กว่า 10สถาบันการเงิน ออกจาก Regulatory Sandbox (แซนด์บ็อกซ์)ได้ ซึ่งจะทำให้หลายธนาคารสามารถให้บริการเปิดบัญชีเงินฝากบนโมบายแบงกิ้งได้ คาดว่าภายในต้นปีหน้า ธนาคารจะสามารถให้บริการสินเชื่อออนไลน์ หรือดิจิทัลเลนดิ้งผ่านแอพรวมถึงสินเชื่อรถยนต์ ที่สามารถสมัครผ่านแอพได้ 

ทั้งนี้ เมื่อธนาคารเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ รวมถึงฟีเจอร์ที่ใส่เข้ามามากขึ้น จะหนุนยอดการเปิดใช้บริการผ่านโมบายแอพสำหรับลูกค้าใหม่เพิ่มเท่าตัวเป็น 1.5 ล้านคน จากเดิมที่ยอดสมัครโมบายแอพของธนาคาร อยู่ที่ราว 7-8 หมื่นบัญชีต่อปี ทำให้ยอดลูกค้าใหม่ปีหน้าเพิ่มขึ้นสู่ 5.5 ล้านราย จากปีนี้ที่คาดว่าลูกค้าที่แอคทีฟ (ใช้บริการสม่่ำเสมอ)อยู่ที่ราว 4 ล้านคน

    สำหรับยอดลูกค้าบนโมบายแอพ ณ สิ้นไตรมาส 3 อยู่ที่ราว 3.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นราว 52% เทียบกับปีก่อนที่มีเพียง 2.5 ล้านคนเท่านั้น ขณะที่ยอดการทำธุรกรรมพบว่าอยู่ที่ 1,300 ล้านรายการเพิ่มขึ้น ราว 30% หากเทียบกับปีก่อนที่มียอดการทำธุรกรรมบนโมบายเพียง 1,000 ล้านรายการเท่านั้น ขณะที่หากคิดเป็นปริมาณการทำธุรกรรม พบว่าเพิ่มขึ้น 32% หรือ 793,301ล้านบาท หากเทียบกับปีก่อนที่มียอดการทำธุรกรรมเพียง 600,000 ล้านบาท

ทั้งนี้หากดูสัดส่วนการทำธุรกรรมผ่านแบงก์ พบว่า เอทีเอ็มลดเหลือ 11% หากเทียบกับปีก่อนที่ 15% และสาขาเหลือเพียง2% เท่านั้นจาก 5%  โดยการทำธุรกรรมส่วนใหญ่ 87% เป็นการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้ง