บจ.เร่งปรับตัวหนี'ดีสรัป' เริ่มแตกไลน์หาธุรกิจเสริม ดึง 'ออโตเมชั่น-เอไอ' ช่วยลดต้นทุน

บจ.เร่งปรับตัวหนี'ดีสรัป' เริ่มแตกไลน์หาธุรกิจเสริม ดึง 'ออโตเมชั่น-เอไอ' ช่วยลดต้นทุน

สมาคมบริษัทจดทะเบียน เผยเริ่มเห็น บจ. ไทยให้ความสำคัญกับการหาธุรกิจรองเพิ่มขึ้น หลังเผชิญกับเทคโนโลยีที่เข้ามาดีสรัป รวมทั้งเศรษฐกิจที่ชะลอตัว นำระบบ “ออโตเมชั่น-เอไอ” เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ

นางเพ็ญศรี สุธีรศานต์ เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย(สมาคมบจ.) เปิดเผยว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างประเทศที่ไม่สามารถควบคุมได้ รวมไปถึงเทคโนโลยีที่เข้ามาดีสรัป ทำให้ บจ. ต้องปรับตัวในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุน ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่ามี บจ. หลายแห่งเริ่มนำระบบอัตโนมัติ(ออโตเมชั่น) หรือระบบเอไอมาใช้มากขึ้น ขณะเดียวกันมีบริษัทที่นำระบบ “แชทบอท” มาทดแทนแรงงานคน โดยใช้ในคอลเซ็นเตอร์  

นอกจากนี้ยังพบว่า บจ. ที่ประกอบธุรกิจเพียงธุรกิจเดียว และธุรกิจดังกล่าวอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่สดใส  เริ่มศึกษาหาธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมเข้ามาเสริม เช่น ธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งธุรกิจนี้นอกจากจะโดนผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแล้ว ยังโดนผลกระทบจากการดีสรัปชันโดยรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเข้ามาทดแทนรถยนต์สันดาปด้วย  

"ที่ผ่านมาสมาคมบจ. ได้จัดให้ข้อมูลแก่ บจ.มานาน 4-5 ปี ในเรื่องการปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลง การกระจายธุรกิจ การเพิ่มทักษะแรงงาน ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นบจ.มีการปรับตัวมากขึ้น มีการทำบิสิเนสทรานฟอร์มเมชั่นมากขึ้น เราคุยกับหลายบริษัท เขามีแผนกใหม่ พนักงาน ใหม่ ซึ่งถือว่าบจ.มีการปรับตัวได้ดี และเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงในองค์กรดีมาก ที่จะทำให้บริษัทมีความยั่งยืน แต่ต้องเทิร์นให้เป็นผลประกอบการให้ได้ แต่ส่วนตัวมองว่า คงจะไม่เห็นผลชัดเจนใน2-3 ปี ซึ่งตอนนี้บจ.เขาไม่ได้พูดว่าปีหน้าเขาจะกำไร แต่พูดว่า 5 ปีข้าง ธุรกิจเขาจะอยู่รอดไหม"นางเพ็ญศรีกล่าว

นางสาวนภัสร กิตะพาณิชย์ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี(SAT) กล่าวว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ในปีนี้ ชะลอตัวลงมาก เพราะ ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่วนกรณี เทคโนโลยียานยนต์ที่เปลี่ยนแปลง เป็นรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตระยะยาว  ทางฝ่ายบริหาร และ คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ได้มีแผนการดำเนินงานที่จะรองรับระยะสั้นและระยะกลาง คือ บริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ให้สามารถแข่งขันได้ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กระบวนการผลิต มีการกระจายฐานลูกค้าไปต่างประเทศ มากขึ้นหากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว พัฒนาสินค้าใหม่ๆรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานนต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา

นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อแตกไลน์ไปยังธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดบริษัทได้อนุมัติให้บริษัทย่อย คือ บริษัท บางกอกสปริงอินดัสเตรียล (BSK) ซื้อ หุ้น นิปปอน คิไค เอนจิเนียริ่ง จำกัด (NKE) สัดส่วน 50.99 % คิดเป็นมูลค่า 69.97 ล้านบาท ซึ่งประกอบธุรกิจ ออกแบบเชิงวิศวกรรมที่ทำงานร่วมกับเครื่องจักรระบบอัตโนมัติ ระบบควบคุมการทำงาน รวมถึงติดตั้งและเชื่อมต่อระบบ เพราะอนาคตภาคอุตสาหกรรมการผลิตจะมีการใช้ระบบอัตโนมัติ หรือ หุ่นยนต์ มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนการผลิต

นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาธุรกิจใหม่ อีกหลายโครงการซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะ ต้องใช้เวลาในการศึกษา และ ขึ้นอยู่กับการเจรจา ซึ่งธุรกิจใหม่ที่บริษัทสนใจนั้น เป็นธุรกิจที่สามารถต่อยอดกับธุรกิจหลักของบริษัท

นาย ปรีชา เตชะไกรศรีกรรมการผู้จัดการ บมจ.ที.กรุงไทยอุตสาหกรรม(TKT) กล่าวว่า ธุรกิจที่บริษัทดำเนินการอยู่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ทั้งในส่วนการผลิตชิ้นส่วนเป็นพลาสติกในอุตสาหกรรมรถยนต์ และ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้ บริษัทต้องควบคุมตุ้นการผลิตให้เข้มงวดขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลดต้นทุน รวมถึงการศึกษาธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งบริษัทเริ่มศึกษามา2-3 ปี แล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเรื่อย ซึ่งบริษัทสนใจธุรกิจ หรือ อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการใช้ชิ้นส่วนพลาสติกเพิ่มขึ้น เพราะ บริษัทมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตชิ้นส่วนพลาสติก

ด้าน บมจ.เอเซีย พรีซิชั่น(APCS) ได้เริ่มขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ( EPC) โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เมื่อปี 2560 และ  ทำให้ผลประกอบการครึ่งปีแรก 2562 มีรายได้ 636 ล้านบาท ซึ่งแซงรายได้หลักที่ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนโลหะที่มีความเที่ยงตรงสูงที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ ฯลฯมีรายได้ที่ 530 ล้านบาท