‘อาเซียนซัมมิท’ ชูเศรษฐกิจหมุนเวียนสร้างความยั่งยืนภูมิภาค

‘อาเซียนซัมมิท’ ชูเศรษฐกิจหมุนเวียนสร้างความยั่งยืนภูมิภาค

‘อาเซียนซัมมิท’ ชูศก.หมุนเวียนสร้างความยั่งยืนภูมิภาค

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และนวัตกรรมด้านกรีน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในลักษณะใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน รู้คุณค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด ถูกนำมาเป็นโจทย์หลักของการจัดเตรียมงานประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีขึ้นที่ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ในระหว่างวันที่ 2 - 4 พ.ย. 2562

บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยมีความตั้งใจจัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ "การประชุมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" หรือกรีนมิตติ้ง (Green Meeting) สอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “ความยั่งยืน” ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของธีมหลักปี2562 ในปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียนว่า “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” หวังจุดประกายให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างจริงจังให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ(เอสดีจี)

“ปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับสารัตถะการประชุมและความร่วมมือที่ครอบคลุม 3 เสาหลักได้แก่ ประชาคมการเมืองความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเน้นปูทางและเสริมสร้างความพร้อมให้ทุกฝ่ายก้าวสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 แต่การประชุมครั้งนี้ ยังตระหนักถึงสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งไทยต้องการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จึงเกิดไอเดียรังสรรค์ทุกรายละเอียดของงานประชุมเป็นรูปแบบกรีน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว

บุษฎี กล่าวอีกว่า ประเทศไทยได้วางคอนเซ็ปกรีนมิตติ้งเป็นธีม นำไปสู่การจัดทำแผนรายละเอียดของการจัดงานครั้งนี้ แบ่งเป็น 5 ด้านใหญ่ๆได้แก่

1.การจัดเตรียมสถานที่ที่เดินทางได้สะดวกด้วยระบบการขนส่งมวลชนสาธารณะ (Green Venue)

2.การลดใช้เอกสารในทุกขั้นตอน (Green Document)

3.การออกแบบตกแต่งสถานที่ เวที นิทรรศการด้วยการใช้วัสดุที่สามารถใช้ซ้ำ นำกลับไปใช้ใหม่ รวมถึงการประหยัดพลังงาน (Green Arrangement)

4.การจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่มให้เพียงพอ ไม่เหลือทิ้ง เลือกอาหารท้องถิ่นไม่เกิดขยะจากบรรจุภัณฑ์(Green Catering) และ

5.การคำนวณค่าคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการจัดงาน แล้วชดเชยด้วยการปลูกต้นไม้ทนแทน (Carbon Footprint) เพื่อช่วยรณรงค์สร้างจิตสํานึก และจุดประกายให้ผู้ร่วมงานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

บุษฎี กล่าวว่า คณะผู้จัดงานของกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้ประสานกับบริษัทเอกชนหลายแห่งในการนำเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดประชุมแบบกรีนมิตติ้งครั้งนี้ รวมไปถึงการจัดเตรียมของขวัญของชำร่วยให้กับผู้นำ คู่สมรสผู้นำ และผู้แทนจากประเทศต่างๆที่เข้ามาร่วมงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การจัดทำเนคไท และผ้าคลุมไหล่” ถือเป็นไฮไลท์ที่เตรียมมอบให้กับผู้นำและคู่สมรสให้ได้ใช้ในช่วงงานเลี้ยงกาล่าดินเนอของการประชุมครั้งนี้

เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาการตลาดธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (จีซี) กล่าวว่า ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมและเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ได้รับความไว้วางใจให้เป็นพันธมิตรด้านความยั่งยืนในการประชุมอาเซียนซัมมิตครั้งนี้ ซึ่งมาช่วยดูแลเรื่องการจัดทำของที่ระลึกจากพลาสติกรีไซเคิล เป็นเนคไทและผ้าคลุมไหล เป็นการเพิ่มมูลค่า และใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านกรีนมาสู่กระบวการแปลงสภาพวัสดุเหลือใช้ หรือ Upcycling ที่แปรรูปมาจากการใช้กับพลาสติกประเภทต่างๆ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ามากขึ้น

ทั้งนี้ นวัตกรรมที่เกิดจากการแปลงสภาพวัสดุเหลือใช้ แบ่งเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่

1. พลาสติกโพลีเอสเตอร์ (PET) โดยผ่านกรรมวิธีแยกย่อยพลาสติกเนื้อเดิม แล้วดึงเส้นใยพลาสติกนำมาผสมกับเส้นใยผ้าไหมในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งได้ จารุพัชร อาชวะสมิต อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าขุนทหารลาดกระบัง และเจ้าของแบรนด์ Australia Surface มาช่วยออกแบบและให้คำแนะนำกับชาวบ้านชุมชน จ.ระยอง เรื่องการถักทอผ้า ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ จนเป็นที่มาของลายผืนผ้าสวยๆ ที่นำไปตัดเย็บเป็นเนคไทและผ้าคลุมไหลให้กับผู้นำและคู่สมรสที่มาร่วมอาเซียนซัมมิท นอกจากนี้ ยังมีเสื้อโปโลตราสัญลักษณ์ให้กับเจ้าหน้าที่ใส่ปฏิบัติงานในการประชุมตลอดทั้งปี

“ของขวัญของที่ระลึกที่ทำมอบให้กับผู้นำครั้งนี้ได้ใช้นวัตกรรมการแปลงวัสดุเหลือใช้ นำพลาสติกที่ถูกทิ้งไร้ค่า นำมาสร้างสรรค์ออกแบบร่วมกับดีไซน์เนอร์ ผสมผสานการถักทอด้วยฝีมือชุมชน ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงธุรกิจต้นน้ำกับปลายน้ำเข้าร่วมกัน แสดงให้เห็นถึงความสามารถและศักยภาพของไทย ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์กรีนที่จะเป็นตัวอย่างให้กับประเทศต่างๆในภูมิภาค” เกรียงศักดิ์ กล่าวย้ำ

2. พลาสติกประเภทโพลิเอทิลีน (PE) ผ่านกระบวนการแปรรูปเส้นใยเช่นเดียวกัน แล้วนำมาผสมกับผ้าฝ้ายและผ้าไหม ถักทอโดยชาวบ้านชุมชน จ.สุโขทัย และนำมาตัดเย็บทำปกหุ้มพลาสปอร์ต กระเป๋าใส่ไอแพด และกระเป๋าซองเครื่องเขียน นอกจากนี้ จีซียังร่วมกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในแบรนด์ปลาเป๋า จัดทำกระเป๋าใส่เหรียญเงินสำหรับเป็นของที่ระลึกสื่อมวลชน และผู้เข้าร่วมประชุมอีกด้วย

3. นวัตกรรมการผลิตพลาสติกจากชีวภาพ (Compostable Bio-plastic) ในการจัดทำช้อนส้อมสำหรับใช้ภายในการประชุมอาเซียนตลอดทั้งปี 2562 ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถย่อยสลายง่ายทางธรรมชาติ

เกรียงศักดิ์ กล่าวในตอนท้ายว่า จีซี ดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างหมุนเวียน รู้คุณค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการบริหารจัดการขยะ ด้วยการคัดแยกและทิ้งอย่างถูกวิธี หรือธิงค์-ไซเคิล (ThinkCycle) ถือเป็นหัวใจหลักที่ช่วยสนับสนุนให้กระบวนการรีไซเคิลเกิดขึ้นให้ครบวงจร เป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเรื่องนี้จำเป็นต้องให้รัฐบาลร่วมกำหนดเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกันทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง