ปตท.เร่งเครื่องลุยค้าปลีก-น้ำมัน ดัน"โกบอล แบรนด์"

ปตท.เร่งเครื่องลุยค้าปลีก-น้ำมัน ดัน"โกบอล แบรนด์"

 นับเป็นเวลา 15 เดือนแล้ว หลังจาก บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ พีทีที ปรับทัพธุรกิจใหม่ โดยโอนบุคลากรและทรัพย์สินในธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกของ ปตท. ไปยังบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ โออาร์ โดยมีธงเป็นการลงทุนในต่างประเทศ

  

         บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่วางแผน บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือ โออาร์ เปิดเผยว่า โออาร์ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการปรับปรุงองค์กร (transform) เพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะกระแสเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (disruptive technology) ซึ่งอาจจะกระทบต่อกลยุทธ์และรูปแบบธุรกิจเดิม

         ดังนั้น โออาร์ จะต้องปรับเรื่องของกลยุทธ์และการตลาด ตลอดจนกระบวนการทำงานต้องปรับให้กระชับ คล่องตัว และดึงศักยภาพของบุคลากรมาให้ประโยชน์อย่างเต็มที่ อีกทั้งร่วมมือกับพันธมิตรที่มีอยู่เดิมและหาพันธมิตรใหม่เชื่อมโยงการทำงานเป็นแพลตฟอร์ม รวมถึงผลักดันสตาร์ทอัพต่างๆ ให้เกิดไอเดียใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่นอกจากจะเป็นเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของบริษัทแล้วยังจะช่วยให้ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ดังกล่าวด้วย

         ขณะนี้ โออาร์ ได้เริ่มกระบวนการทรานส์ฟอร์มมา 3-4 เดือน และวางเป้าหมายดำเนินการในช่วง 2 ปี เริ่มจากธุรกิจน้ำมัน ได้เปลี่ยนชื่อสถานีบริการ(ปั๊ม)น้ำมันจาก พีทีที  เป็น พีทีที สเตชั่น หรือ สถานที่ที่สร้างโอกาสให้กับทุกคน ครบทุกแห่งแล้ว โดย ณ สิ้น เดือน มิ.ย. 25662 มีปั๊มน้ำมันในไทยอยู่ที่ 1,835 แห่ง และต่างประเทศอยู่ที่ 281 แห่ง

         โดยเป็นการเติบโตในระดับถนนสายรอง หรือ ชุมชน จะสามารถนำสินค้ามาจำหน่ายในปั๊มน้ำมันได้ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายภาครัฐ เช่น โครงการ “ไทยเด็ด” ซึ่ง ในอนาคตยังจะเกิดการเชื่อมโยงธุรกิจปั๊มน้ำมันกับธุรกิจดิจิทัลมากขึ้น เพราะปั๊มน้ำมันจะไม่ได้จำหน่ายสินค้าเฉพาะลูกค้า walk in แต่จะมีการจัดส่ง (delivery) มากขึ้น สอดรับกับธุรกิจสมัยใหม่ และเทรนด์ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ

           รวมถึงปั๊มน้ำมันบางแห่งก็ต้องมีสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charge) เพื่อตอบรับกับทิศทางในอนาคตที่ คาดว่าจะมีปริมาณรถยนต์ไฟฟ้า(EV) มากขึ้น โดยปัจจุบันมี EV Charge แล้ว 17 แห่ง คาดว่าจะเพิ่มเป็น 20-25 แห่งในปีหน้า ขณะเดียวกันจะพิจารณาติดตั้งระบบ Quick Charge เพิ่มขึ้น เพื่อลดระยะเวลาการใช้บริการ  ส่วนผลิตภัณฑ์น้ำมันก็จะเน้นความเป็นสีเขียว ด้วยการส่วนเสริมดีเซล B10 ,B20 และแก๊สโซฮอล์ E10 และE20 ตลอดจนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อลดการใช้พลังงานฟอสซิล

157236101413

       ส่วนธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน(นอนออยล์) ร้านคาเฟ่ อเมซอน นับเป็นเบอร์1 ที่สร้างรายได้มากสุดของธุรกิจนอนอออยล์ โดย ณ สิ้น ส.ค. 2562 ในไทยอยู่ที่ 2,700 แห่ง ซึ่งกลยุทธ์การเติบโตของนอนออยล์ ไม่ได้เน้นแค่การขยายสาขา แต่จะต้องเชื่อมโยงระบบการบริหารจัดการภายในร้านและสินค้า มาตรฐาน และนำประโยชน์จากดิจิทัลมาใช้

        ขณะที่ในต่างประเทศ จะมุ่งเน้นประเทศที่จะสร้างการรับรู้เรื่องแบรนด์ รวมถึงการนำสินค้าชุมชนเข้าสู่แพลตฟอร์มเพื่อกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาด ซึ่งจะช่วยเกษตรกร และชุมชน หรือ เอสเอ็มอี ให้แข็งแรงมากขึ้น

        ขณะที่ ธุรกิจต่างประเทศ โออาร์ ดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ใน 3 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว และฟิลิปปินส์ รวมกันอยู่ที่ 281 แห่ง และมีร้านคาเฟ่ อเมซอน อยู่ที่ 222 แห่ง ใน 9 ประเทศ ได้แก่ จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และโอมาน ฃ

157236112955

         อีกทั้งยังมีร้านสะดวกซื้อ จิฟฟี่ อยู่ที่ 77 แห่ง ใน ลาวและกัมพูชา รวมถึง มีธุรกิจให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานในสนามบินหลัก 3 แห่งในกัมพูชา และจัดหาน้ำมันอากาศยานให้กับบริษัทในลาว และ ล่าสุดร่วมกับพันธมิตรในเมียนมา ดำเนินโครงการธุรกิจคลังและค้าส่งปิโตรเลียม และโครงการธุรกิจสถานีบริการน้ำมันและค้าปลีก คาดว่าจะเห็นปั๊มน้ำมันแห่งแรกไม่เกินไตรมาส 2ปีหน้า

         บุรณิน กล่าวว่า ภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว จะส่งผลให้ สัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ 3 เสาหลักธุรกิจ คือ ธุรกิจน้ำมัน ,นอนออยล์ และต่างประเทศ ในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไป จากปัจจุบัน EBITDA ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจน้ำมัน อยู่ที่ 60-70% ,นอนออยล์ 24% และต่างประเทศ 6-7%

          ไปสู่ EBITDA ในส่วนของธุรกิจนอนออยล์ และต่างประเทศจะปรับเพิ่มขึ้น จากการเติบโตของร้านคาเฟ่ อเมซอน ในต่างประเทศ และทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านที่ดีขึ้น ส่วนEBITDA ธุรกิจน้ำมันจะลดลงเล็กน้อย จากการประเมินเรื่องของพลังงานทดแทนที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยไม่ได้เติบโตมากนัก