เปิดหลักสูตรสร้างมือดีแบงก์ชาติ

เปิดหลักสูตรสร้างมือดีแบงก์ชาติ

นักเศรษฐศาสตร์และผู้บริหารธนาคารกลางชื่อดังจากเอเชียและสหรัฐ ร่วมกันเปิดหลักสูตรว่าด้วยธนาคารกลางในทุกมิติเป็นหลักสูตรแรกของโลก หวังช่วยธนาคารรับมือกับระบบการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้

เว็บไซต์นิกเคอิ รายงานว่า วิทยาลัยธุรกิจเอเชีย (เอเอสบี) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย และวิทยาลัยการจัดการเอ็มไอทีสโลนของสหรัฐ ร่วมพัฒนาหลักสูตรเข้มข้น 12 เดือน ได้เซตี อาซิส อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย และโรเบิร์ต ซี เมอร์ตัน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล เป็นประธานร่วมในคณะกรรมการที่ปรึกษาหลักสูตรใหม่

หลักสูตรแบบโรงเรียนกินนอน ที่แตกต่างจากโครงการเอ็มบีเอนี้รับเฉพาะผู้บริหารธนาคารกลาง อบรมกันแบบเข้มข้นที่ธนาคารกลางทั่วโลก รวมทั้งที่เอ็มไอที สโลน ในแมสซาชูเซตส์และที่เอเอสบี แม้ว่าวิทยาเขตหลักจะอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ก็ตาม

นับจนถึงขณะนี้ เอเอสบีเสนอหลักสูตรเอ็มบีเอ ระยะเวลา 20 เดือนร่วมกับเอ็มไอทีสโลนเป็นปีที่ 4

นักศึกษาจบการศึกษาแล้ว 84 คน จึงมีแผนเปิดหลักสูตรธนาคารกลางในเดือน พ.ค. เริ่มต้นด้วยนักศึกษา 48 คนจากธนาคารกลางทั่วโลก

นอกเหนือจากสอนเนื้อหาหลักด้านนโยบายการเงินและการจัดการเศรษฐกิจแล้ว หลักสูตรยังเน้นย้ำเรื่องความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากเทคโลยีใหม่ และกระบวนการของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) บิ๊กดาต้า เงินเสมือนและบล็อกเชน และความปั่นป่วนทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งผู้บริหารธนาคารกลางฝึกอบรมจากการทำงานอยู่แล้ว ไม่มีหลักสูตรพิเศษโดยเฉพาะ ย่อมมีคำถามว่าทำไมต้องมาอบรมโครงการนี้

“ทุกชาติต่างเชื่อมต่อและหลอมรวมเข้ากับเศรษฐกิจโลก อีกทั้งระบบการเงินโลกก็ซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นปัญหาเศรษฐกิจในประเทศหรือภูมิภาคย่อมกระตุ้นให้เกิดวิกฤติโลกได้อย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลกปี 2552 สิ่งที่ธนาคารกลางทำไปไกลกว่าทฤษฎีเก่าๆ มาก ด้วยเหตุนี้ผู้บริหารหลายแห่งจึงถูกบีบให้ต้องตัดสินใจ โดยที่ไม่ได้สัมผัสกับประโยชน์จากแนวคิดและวิธีคิดใหม่ๆ อย่างลึกซึ้ง” เซตีกล่าวและว่า ผู้บริหารธนาคารกลางจำเป็นต้องมีความรู้เพิ่มเติมเรื่องการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในบริการธนาคารและการเงิน

“การศึกษาและฝึกอบรมให้กับธนาคารกลางในสมัยก่อนให้ข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของสมการ แต่ภายใต้พลวัตและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ข้อเรียกร้องต่อธนาคารกลางก็สูงมากเช่นกัน”

ด้านเมอร์ตัน อาจารย์ด้านการเงินผู้โด่งดังจากเอ็มไอทีสโลน เผยถึงความคาดหวังที่มีต่อหลักสูตรใหม่ว่า ในช่วง 5 ปีนี้ตั้งเป้าอบรมผู้บริหารธนาคารกลาง 40-50 คนต่อปี เพื่อให้รับตำแหน่งในหน่วยงานที่สังกัดอยู่ ถ้าประสบความสำเร็จเขาหวังว่าหลักสูตรจะเติบโต และสถาบันอื่นจะนำต้นแบบนี้ไปใช้ เพิ่มสมรรถนะของระบบการศึกษา เพื่อยกระดับความรู้และขีดความสามารถให้กับผู้บริหารธนาคารกลางทั่วโลก

แต่การสร้างหลักสูตรโดยไม่มีต้นแบบให้ดูมาก่อนถือเป็นเรื่องท้าทายในทัศนะของเมอร์ตัน

“ยังไงซะเราก็มั่นใจว่าเราหาคนมาทำได้ เริ่มจากกำหนดว่าธนาคารกลางต้องการอะไรในอนาคต จากจุดนั้นก็สร้างหลักสูตรที่ผสมทฤษฎีการเงินและเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งการทำงานเชิงประจักษณ์ เช่น การทดสอบสถิติ รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ การปฏิบัติตามนโยบาย ทั้งหมดนี้รวมศูนย์อยู่ที่การบริหารธนาคารกลาง”

ด้วยประสบการณ์ด้านการเงินอันโชกโชนของเมอร์ตัน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ร่วมกับไมรอน โชลส์ ที่ร่วมคิดค้นแบบจำลองคำนวณมูลค่าออปชัน เขามีมุมมองพิเศษนำเสนอให้กับนักศึกษาในหลักสูตร นั่นคือการเงินที่เน้นเรื่องการวัดและจัดการความเสี่ยงไม่แน่ไม่นอน

“นโยบายการเงินแบบดั้งเดิมถูกส่งต่อแตกต่างกันไปในหลายช่องทาง ส่วนใหญ่ในประเทศที่เปิดกว้างทางการเงิน ธนาคารเงาเป็นเพียงหนึ่งมิติของความซับซ้อนนี้ ผมจึงเชื่อว่าการฝึกอบรมผู้บริหารธนาคารกลางเพื่ออนาคต ต้องมีองค์ประกอบด้านการเงินที่ครอบคลุมและแม่นยำ”

เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างระหว่างธนาคารกลางเอเชียกับชาติตะวันตก และการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้ากับกำลังพัฒนา เมอร์ตันกล่าวว่าวัตถุประสงค์และทางเลือกนโยบายเชิงลึก แตกต่างกันในแต่ละประเทศและภูมิภาค แต่ความรู้พื้นฐานและเครื่องมือมากมายมหาศาลกลับเหมือนกันในแต่ละประเทศ

“ยิ่งไปกว่านั้นโลกโดยเฉพาะด้านการเงินยิ่งซับซ้อนมาก วิกฤติจึงไม่อยู่ในที่เดียว”

ส่วนเซตีตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่เขตเศรษฐกิจก้าวหน้ารับรู้ถึงปัญหาที่ธนาคารกลางกำลังเผชิญ แต่เขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่กลับตระหนักและตื่นรู้น้อยกว่า หลักสูตรใหม่จะเปิดโอกาสให้สัมผัสมุมมองและทางเลือกนโยบายอันหลากหลาย รวมถึงวิธีแก้ปัญหา

เอเอสบีดึงคณะจากเอ็มไอทีสโลนและสถาบันจากตะวันตกและเอเชียมาร่วมขบวนด้วย หลักสูตรเอ็มบีเอ 20 เดือนของเอเอสบี ได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างรวดเร็วว่า วิธีการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการที่ดัดแปลงมาจากหลักสูตรของเอ็มไอทีสโลนนั้น เป็นนวัตกรรมล้ำสมัย นำเสนอการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในบริษัทพันธมิตรกว่า 125 แห่ง รวมถึงบริษัทข้ามชาติอย่างยูนิลีเวอร์และมาสเตอร์การ์ด หรือบริษัทเอเชียอย่างไดวะ เปโตรนาส และแอร์เอเชีย

ในแง่ของบุคลากรก็ถือว่ามีความโดดเด่น เซตี ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซียมานาน16 ปีจนถึงปี 2559 ขณะนี้เป็นประธานบริษัทเปอโมดาลัน เนชันแนล บริษัทจัดการสินทรัพย์แห่งรัฐของมาเลเซีย ส่วนเอลี เรโมโลนา ผู้อำนวยการหลักสูตร เคยเป็นผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) สำนักงานฮ่องกง ด้านคณะกรรมการที่ปรึกษาหลักสูตรก็ประกอบด้วยอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางหลายคน

“นี่คือห้องเรียนของเราเอง” เรโมโลนาย้ำ