ไอเดีย เจ๋ง ดึง "สวนยาง"ทำพลังงานทดแทน

ไอเดีย เจ๋ง ดึง "สวนยาง"ทำพลังงานทดแทน

กยท. ผนึก บมจ.ทีทีซีแอล ลงนามเอ็มโอยู  มอบองค์ความรู้บริหารจัดการสวนยางป้อนแผนพัฒนาพลังงานทดแทนหวังเพิ่มมูลค่า สร้างช่องทางตลาดไม้ยาง แสวงหาความยั่งยืน

      นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการ ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เปิดเผยภายหลังการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐานในระดับสากล กับนายร่วมกับนายฮิโรโนบุ อิริยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ว่า ช้อตกลงครั้งนี้จะร่วมกัน

มุ่งพัฒนาสวนยางตามมาตรฐาน ยกระดับและเพิ่มมูลค่าไม้ยาง - ผลิตภัณฑ์ไม้ยางแปรรูป พร้อมหาช่องทางตลาดทั้งในและต่างประเทศให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง

 พัฒนาและกำหนดเกณฑ์การจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐานในระดับสากลต่างๆ เช่น มาตรฐาน FSCTM, PEFCTM โดยให้เกษตรกรชาวสวนยางเข้ามามีส่วนร่วมปรับปรุง พัฒนาการจัดการสวนยางของตนเอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าน้ำยางและไม้ยาง รวมไปถึงผลผลิตอื่น ๆ ในสวนยาง เช่น พืชแซมยาง พืชร่วมยาง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางอีกทางหนึ่ง โดยการนำไปจำหน่ายผ่านช่องทางตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ถือเป็นการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราอย่างครบวงจร ที่ยังคำนึงถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย

โดยกยท.ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาและกำหนดเกณฑ์การจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐานในระดับสากลมาตลอด

ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้จัดทำระบบมาตรฐานการจัดการสวนยางตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน มอก. 14061 มอก. 2861 PEFCTM และ FSCTM โดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ รวมถึงสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ

นอกจากนี้ กยท. ได้ยื่นขอการรับรองมาตรฐาน FSCTM ให้สวนยาง จำนวน 8,050 ไร่ โรงงานน้ำยางข้น และโรงงานแปรรูปไม้ยางของ กยท. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบการขอรับรองมาตรฐานให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง และเปิดรับเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดยให้ปฏิบัติตามระบบมาตรฐานการจัดการสวนยางฯ เพื่อขอการรับรองต่อไป

นายจิรวัฒน์ สุกปลั่ง ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายขายและพัฒนาธุรกิจ กล่าวว่า บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทน (Renewables Energy) ซึ่งเป็นธุรกิจที่จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้ เนื่องมาจากการตระหนักในการเปลี่ยนแปลงต่อสภาวะอากาศของโลก (Global Warming) รัฐบาลของหลาย ประเทศทั่วโลก จึงมีนโยบายสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากการใช้ถ่านหิน หรือ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลี่ยม สู่การใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานสะอาดหนึ่งในนั้นคือ “พลังงานทดแทนจากเชื้อเพลิงชีวมวล” ซึ่งผลิตจากชิ้นส่วนไม้เล็กๆ ที่ไม่สามารถผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้อื่นๆ ได้

“การผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีการจัดการสวนยางที่ยั่งยืนเป็นวัตถุดิบที่ต้องสำรองไว้สำหรับผลิตเป็นพลังงานเชื้อเพลิง”