ดันก.ม.ใหม่ 'บริจาคอวัยวะอัตโนมัติ' แก้ปัญหาผู้ป่วยรอนานถึง 5 ปี

ดันก.ม.ใหม่ 'บริจาคอวัยวะอัตโนมัติ' แก้ปัญหาผู้ป่วยรอนานถึง 5 ปี

คนไทยรอรับอวัยวะนานกว่า 3-5 ปี อัตราบริจาคแค่ 3.3% “หมอเอ้ก” ดันออกกฎหมายใหม่“บริจาคอวัยวะอัตโนมัติ” แก้ปัญหาขาดแคลนอวัยวะ ลดระยะเวลารอสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้เร็วขึ้น -ขจัดลักลอบซื้อขายอวัยวะ ย้ำไม่ละเมิดลิดรอนสิทธิประชาชน

วันนี้ (3 ต.ค.) นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันระบบการจัดการอวัยวะของประเทศไทยเป็นไปในลักษณะที่ใครประสงค์ที่จะบริจาคก็ไปขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานที่รับบริจาค แต่ประสบปัญหาคือ ประเทศไทยมีผู้รอรับบริจาคกว่า 6,400 คน มีผู้ขึ้นทะเบียนบริจาคอวัยวะประมาณ 200 คน คิดเป็นอัตราเพียง 3.3% เท่านั้น ส่งผลให้อัตราการรอรับบริจาคใช้เวลานาน เช่น กรณีไต รอไม่ต่ำกว่า 3 ปี หรือตา/แก้วตารอนานกว่า 5 ปี อีกทั้ง แม้บุคคลนั้นจะขึ้นทะเบียนเป็นผู้บริจาคอวัยวะไว้แล้ว แต่เมื่อเสียชีวิตกลับพบว่าญาติไม่ยินยอมในการเก็บอวัยวะ ซึ่งกรณีเช่นนี้เคยมีคำตัดสินของศาลให้สถานพยาบาลของรัฐชนะและเก็บอวัยวะได้ แต่กว่าคำตัดสินจะแล้วเสร็จ อวัยวะนั้นก็ใช้ไม่ได้แล้ว

โฆษกฯรมช.สธ. กล่าวอีกว่า จึงนำเรียนหารือกับนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ.ที่เป็นทั้งผู้บริจาคอวัยวะและดวงตาและเห็นด้วยที่จะผลักดันนโยบายการเปลี่ยนระบบบริจาคอวัยวะในประเทศไทยเป็นการบริจาคอวัยวะอัตโนมัติตามที่ตนได้หาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง และเชื่อมั่นว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) จะเห็นด้วย เนื่องจากท่านเป็นฮีโร่ในการจัดการอวัยวะด้วยการใช้เครื่องบินส่วนตัวบินไปรับอวัยวะบริจาคอยู่แล้ว

ในการปรับเปลี่ยนจะเป็นการออกกฎหมายใหม่มาดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ เบื้องต้นจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาและยกร่างกฎหมาย คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยจะต้องดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากมีเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อและศาสนามาเกี่ยวข้อง จึงต้องดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกจะเป็นการปรับเปลี่ยนระบบเป็นแบบสอบถามความสมัครที่จะบริจาคเมื่อบุคคลไปต่ออายุเอกสารราชการต่างๆ เช่น ใบขับขี่ หรือ บัตรประชาชน

โดยเจ้าหน้าที่สอบถามว่าจะเป็นผู้บริจาคอวัยวะหรือไม่ โดยคำตอบจะเชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูลสุขภาพที่จะมีการทำระบบทั้งประเทศต่อไป เมื่อบุคคลนั้นไปรับบริการที่สถานพยาบาลก็จะแสดงในระบบว่าเป็นผู้บริจาคอวัยวะหรือไม่ ซึ่งรูปแบบนี้มีการดำเนินการในต่างประเทศอยู่แล้ว เช่น ที่รัฐอิลลินอยด์ สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้มีอัตราผู้บริจาคอวัยวะอยู่ที่ 60% ขณะที่อัตราภาพรวมของประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 30% เป็นต้น

และระยะที่สอง จะดำเนินการหลังจากระยะแรกแล้ว 5-6 ปีเมื่อประชาชนและเจ้าหน้าที่มีความเข้าใจในการให้อวัยวะและความพร้อมมากขึ้นแล้ว โดยรูปแบบนี้จะเป็นการให้ประชาชนทุกคนบริจาคอวัยวะอัตโนมัติตั้งแต่เกิด แต่ภายหลังหากไม่สมัครใจบริจาคอาจจะด้วยความเชื่อหรือเหตุผลอื่นๆ สามารถบอกยกเลิกการเป็นผู้บริจาคได้ตลอดเวลา ซึ่งประเทศออสเตรียมีการดำเนินการในรูปแบบ มีอัตราการบริจาคอวัยวะสูงถึง 99.9%

อีกทั้ง ในการเก็บอวัยวะที่ปัจจุบันเป็นหน่วยงานส่วนกลางเก็บนั้น จะมีการกระจายการเก็บอวัยวะไปสู่ภูมิภาค เนื่องจากบางอวัยวะมีช่วงเวลาในการเก็บจึงจะสามารถนำมามอบให้ผู้ป่วยต่อได้ เช่น หัวใจและปอดที่มีระยะเวลาเก็บเพียง 1 ชั่วโมง ทั้งนี้ อยากขอให้ทุกพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน หากเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์กับประชาชนมาร่วมกันผลักดันให้กฎหมายนี้เกิดขึ้น

นพ.คณวัฒน์ กล่าวด้วยว่า เมื่อประเทศไทยมีการปรับการบริจาคอวัยวะเป็นรูปแบบแรก เชื่อว่าจะทำให้อัตราการบริจาคอวัยวะของคนไทย เพิ่มขึ้นเป็น 40-50% เหมือนกับที่รัฐอิลลินอยด์ใช้รูปแบนี้และมีอัตราเพิ่มจากอัตราของประเทศถึง 30% และหากใช้ในรูปแบบที่สองจะเพิ่มอัตราของประเทศขึ้นเป็น 70% เป็นการช่วยแก้ปัญหาอวัยวะขาดแคลน เพิ่มการเข้าถึงการรับบริจาคอวัยวะ ลดระยะเวลารอ และช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับบริจาคอวัยวะเร็วมากขึ้น

"ขอยืนยันว่าการผลักดันเรื่องบริจาคอวัยวะอัตโนมัติไม่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแน่นอน เพราะเมื่อกฎหมายผ่าน ทุกคนยังมีสิทธิของตัวเองทุกเวลาที่จะเดินออกจากการเป็นผู้บริจาคอวัยวะ ไม่มีใครบอกว่าหากออกจากการบริจาคอวัยวะแล้วจะผิดกฎหมายแต่อย่างใด"

และจะไม่เป็นการส่งเสริมการซื้อขายอวัยวะ ตรงกันข้ามมั่นใจว่าจะลดปัญหาการลักลอบซื้อขายอวัยวะในตลาดมืดลงได้มาก เพราะมีอวัยวะที่บริจาคเพียงพอกับความต้องการมากขึ้น ราคาการซื้อขายอวัยวะก็จะต่ำลงจนไม่มีใครอยากที่จะขาย