เปิดโลกภาพยนตร์ นอกชั้นเรียน เรื่องจริง“หลังเรียนจบ”

เปิดโลกภาพยนตร์ นอกชั้นเรียน เรื่องจริง“หลังเรียนจบ”

ในแวดวงการเรียนสาขาภาพยนตร์หรือบางสถาบันการศึกษาหลายแห่งอาจจะใช้ชื่อต่างกันไปเพื่อให้เกิดความร่วมสมัย แต่ความเป็นจริงพบว่า ผู้สอนและผู้เรียนในสาขาภาพยนตร์ ควรจะได้เปิดโลกทัศน์และมีมุมมองที่กว้างกว่าเดิม ฟังให้มากขึ้น รู้ให้รอบทิศ

    กิจกรรมศิลป์สโมสรเสวนาขึ้น ในหัวข้อ “มาตรการส่งเสริมหนังไทยยังไงดี” จัดโดยฝ่ายข่าวศิลปวัฒนธรรรมบันเทิง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องของการเรียนภาพยนตร์ที่ไม่ใช่เพียงความฝันอีกต่อไป 

       นายพันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยอย่างจักรยานสีแดง (2540)และไอ้ฟัก(2547)บอกว่า ตัวเลขรายได้ของภาพยนตร์ไทยในแต่ละปีเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดและสะท้อนว่าภาพยนตร์ไทยเข้าสู่ยุคตกต่ำ ภาพยนตร์ที่ทำรายได้เกิด 10 ล้านบาทมีเพียงไม่กี่เรื่อง เฉลี่ยแล้วอาจมีภาพยนตร์คุ้มทุนแค่ 3 เรื่องต่อปีเท่านั้น และแม้ว่ารายได้ของภาพยนตร์ไทยจะเข้าสู่ภาวะตกต่ำ แต่คุณภาพนั้นไม่ได้ตกต่ำเลย ผลงานหลายๆเรื่องยังมีมาตรฐาน เพียงแต่ประสบปัญหาทางธุรกิจมากกว่า ผู้ผลิตภาพยนตร์ ไม่รักษา “ศรัทธา” ของผู้ชมภาพยนตร์ไทยไว้ได้ การส่งเสริมสนับสนุนจากภาพรัฐที่เป็นนโยบายเข้มแข็งและเป็นจริงที่สุดก็ตอนนโยบายไทยเข้มแข็งมีทุนราว 200—300 ล้าน แต่หลังจากนั้นก็ให้ปีละ10-15 ล้านต่อปี

        น.ส.พิมพพกา โตวิระ ผู้กำกับภาพยนตร์และผู้สร้างภาพยนตร์อิสระ กล่าวว่าภาพยนตร์ไทยที่ตกต่ำอยู่ในตอนนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโลกยุคดิจิทัล ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน สิ่งที่ดูแย่มากๆในตอนนี้คือเงินทุนและช่องทางในการจัดจำหน่ายภาพยนตร์

      นายภาณุ อารี ในฐานะของนักวิจารณ์ภาพยนตร์และผู้นำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย เล่าว่าแม้วงการภาพยนตร์ไทยจะอยู่ในภาวะตกต่ำ แต่ก็ยังมีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จเมื่อนำไปขายในต่างประเทศอย่าง องค์บาก (2546)หรือชัตเตอร์ กดจิตวิญญาณ(2547) และแม้ว่าภาพยนตร์ไทยจะตกต่ำในบางช่วง แต่ล่าสุด ฉลาดเกมโกง(2560)ก็สร้างกระแสและเป็นที่นิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ หากพิจารณาจะพบว่าภาพยนตร์ไทยต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้น แต่หากพิจารณาเป็นรายเรื่องก็ยังขึ้นอยู่กับจังหวัดด้วย

     ขณะที่นิสิตนักศึกษา น.ส.สุทินา ไกรถวิล “รวงข้าว” นิสิตนิสิตชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)บอกว่า การเรียนภาพยนตร์ของตัวเองคิดว่ายังเป็นการตัดสินใจที่ถูกอยู่ ถึงแม้ว่าพี่ๆที่อยู่ในแวดวงภาพยนตร์จะมองว่ามันถึงยุคที่ตกต่ำ แต่ยังเชื่อว่าหากเรายังมีศรัทธาในตัวเอง มันยังไปต่อได้อีก

     "วันนี้มาฟังเสวนา ไม่ได้รู้สึกท้อหรือคิดผิดที่เลือกเรียนภาพยนตร์ในขณะที่วงการภาพยนตร์ตกต่ำ แต่การมาฟังทำให้เรารู้สถานการณ์และทำให้เรารู้ว่าต้องพัฒนาตัวเอง รู้เท่าทันสถานการณ์ เพื่อจะอยู่ให้รอดข้อมูลวันนี้มีประโยชน์มากๆค่ะ เพราะเราจะได้หูตาสว่าง มันดีกว่าการเรียนในชั้นเรียนเพียงอย่างเดียว วันนี้เราได้สัมผัสคนที่อยู่ในแวดวงภาพยนตร์"รวงข้าว กล่าว

     น.ส.นันท์นภัส จันทร์แก้วแร่ “มีน”นิสิตชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ที่เรียนภาพยนตร์เพราะอยากรู้เบื้องหลังของการทำภาพยนตร์ และชอบดูด้วย มาฟังข้อมูลวันนี้ไม่ได้รู้สึกใจเสีย แต่ทำให้เรามีแรงอึดและต้องพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น เพื่อจะได้อยู่ในวงการนี้ให้ได้

     นายสุกนต์ธี กลิ่นสุด “อิ้งค์” นิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนสุนันทาบอกว่า  เราต้องอยู่กับความเป็นจริง และทำให้ต้องปรับตัวเอง ต้องเข้าใจว่าสถานการณ์ภาพยนตร์ไทยในช่วงเวลานี้อยู่ยาก พอรู้ความจริงจะทำให้เกิดพลังในการยืนหยัดเพื่อสู้กับปัญหา

     สาขาวิขาอย่างภาพยนตร์ต้องปรับตัวเอง และในยุคสมัยนี้คงจะไม่ใช่แค่สาขาภาพยนตร์เท่านั้นที่ต้องรับรู้ข้อมูลจริงจากตลาดแรงงาน คงต้องทุกสาขาวิชา ทุกคณะที่ต้องรับรู้ข่าวสาร ข้อมูลที่ชัดและถูกต้อง เพราะมิฉะนั้นแล้วจะผลิตบัณฑิตเพื่อให้ออกมาสู่ตลาดแรงงานแต่มิได้รู้ข้อมูลจริงของตลาด สุดท้าย ...บัณฑิตที่จบออกมาก็ไม่รู้ว่าตัวเองต้องปรับตัวเองเพื่อให้เข้าสู่โลกที่มีแต่การเปลี่ยนแปลงและไม่เคยหยุดนิ่ง