นักอนุรักษ์ทั่วประเทศ ร่วมรำลึก “29 ปี สืบ นาคะเสถียร”

นักอนุรักษ์ทั่วประเทศ ร่วมรำลึก “29 ปี สืบ นาคะเสถียร”

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดกิจกรรม “รำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร” ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี

โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) วราวุธ ศิลปอาชา พร้อมด้วยอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ธัญญา เนติธรรมกุล และผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงและกรม พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ และตัวแทนองค์กรอนุรักษ์ต่างๆ และประชาชน นิสิต นักศึกษา กว่า 500 คน เข้าร่วมงานที่จัดขึ้นเป็นเวลาสองวันตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม และในวันนี้

นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า การจัดงาน “รำลึก 29 ปี สืบ นาคะเสถียร” ครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผู้มีอุดมการณ์ในการอนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่า ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งทำอัตวินิบาตกรรมในวันที่ 1 กันยายน 2533 และทำให้สังคมและทุกภาคส่วนหันมาสนใจการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง 

สืบ นาคะเสถียร ซึ่งได้เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งก่อนหน้านั้นราวหนึ่งปี พบกับปัญหามากมายที่สืบตั้งเจตนารมณ์ว่าต้องแก้ไขให้ได้ เช่น ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า แต่ก็เป็นเรื่องยากยิ่งที่จะแก้ไขได้ และได้พยายามแก้ปัญหาในหลายๆด้าน แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ 

จนกระทั่งเช้ามืดของวันที่ 1 กันยายน สืบ นาคะเสถียร จึงได้ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยปืนหนึ่งนัด ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หลังจากได้จัดทำเอกสารนำเสนอห้วยขาแข้งและเขตรักษาพันธุ์สัตวว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นมรดกโลกเสร็จสิ้น ซึ่งการเสียชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร ตั้งแต่บัดนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ และวันที่ 1 กันยายนจึงเป็นวันที่ทุกคนจะร่วมระลึกถึงความเสียสละของสืบ นาคะเสถียร 

ผู้ร่วมงาน ได้เข้าร่วมวางหรีดรำลึกและไว้อาลัยต่อการจากไปครบ 29 ปี ของ สืบ นาคะเสถียร พร้อมทั้งการมอบทุนการศึกษาแก่บุตรเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า และนักเรียน จำนวน 58 ทุน 

หลังการจากไปของสืบ มีการสืบทอดการบริหารจัดการภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งตลอดมาผ่านโครงการต่างๆ รวมทั้ง การอนุรักษ์เสือโคร่งในพื้นที่ที่ถูกใช้เป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จในการปกป้องผืนป่าผ่านงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol)

นายสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ กรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า หากดูสถานการณ์ปัจจุบัน ประชากรเสือโคร่งของโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง 

ปัจจุบันคาดว่าทั่วโลกมีจำนวนประชากรเสือโคร่งในป่าไม่เกิน 4,000 ตัว โดยปัจจัยคุกคามหลักต่อการอยู่รอดของประชากรเสือโคร่งมีสาเหตุจากการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ การลักลอบล่าเสือโคร่งและสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อ 

ในประเทศไทย สมโภชน์กล่าวว่า มีประชากรเสือโคร่งอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ประมาณ 150-200 ตัว โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในผืนป่าตะวันตก และผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 

จากการติดตามตรวจวัดประชากรเสือโคร่งในพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นใจกลางของผืนป่าตะวันตกโดยการสำรวจด้วยกล้องดักถ่ายภาพอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีเสือโคร่งที่ถ่ายภาพได้ในผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 41 ตัว ในปี 2553 เป็น 77 ตัวในปี 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 50% 

โดยมีประชากรเสือโคร่งที่ประเมินได้อยู่ที่ 80-100 ตัว ในผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร นอกจากนี้ ยังพบว่าเสือโคร่งในพื้นที่มีการขยายพันธุ์ทุกปีและมีการกระจายพันธุ์ไปอาศัยอยู่ในพื้นที่คุ้มครองอื่นโดยรอบในป่าตะวันตก นายสมโภชน์ กล่าว

ในการอนุรักษ์เสือโคร่ง มีการดำเนินงานโดยการเสริมสร้างศักยภาพและมาตรฐานการลาดตระเวนให้มีประสิทธิภาพ (Smart Patrol) และครอบคลุมพื้นที่ให้มากขึ้นในพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาศัยสำคัญของเสือโคร่งและพื้นที่อื่นที่ยังมีศักยภาพเป็นแหล่งอาศัย 

ทั้งนี้เพื่อให้พื้นที่ป่าอนุรักษ์เหล่านั้นเป็นแหล่งอาศัยที่ปลอดภัยของเสือโคร่งและเพื่อให้ประชากรเสือโคร่งสามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการเสริมสร้างประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายโดยปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดปัญหาอาชญากรรมสัตว์ป่า และสร้างความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องให้มีความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

สถานียังได้สนับสนุนการติดตามประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่ที่มีความสำคัญด้วยระบบที่มีมาตรฐาน โดยเน้นในพื้นที่ผืนป่าตะวันตก แนวเทือกเขาตะนาวศรีและผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ตลอดจนหาแนวทางฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในผืนป่าที่มีศักยภาพอื่นๆ เช่น กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก

 และสุดท้าย นายสมโภชน์กล่าวว่า การรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้สังคมและส่งเสริมสร้างความร่วมมือให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ เสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเพื่อลดปัญหาการพึ่งพิงทรัพยากรป่าไม้ให้น้อยลง

ในการประชุมสุดยอดผู้นำของประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง 13 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย จีน อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เมื่อปี 2553 นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ได้มีการรับรอง “ปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก” ด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง เพื่อประกาศเจตนารมณ์ที่จะดำเนินงานกิจกรรรมต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งของโลก โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในโลกเป็นสองเท่าในปี 2565 

ซึ่งตามแผนปฏิบัติการอนุรักษ์เสือโคร่ง ปี 2553-2565 และแผนแห่งชาติ เพื่อการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งปี 2553-2565 ของประเทศไทย มีเป้าหมายในการฟื้นฟู ประชาการเสือโคร่งในประเทศไทยให้ได้ 50% โดยเน้นในผืนป่าตะวันตกและผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ด้วย นายสมโภชน์ กล่าว

ภาพ/ อส.