จับเจ้าพ่อวิกิลีกส์สะเทือนเสรีภาพสื่อ

จับเจ้าพ่อวิกิลีกส์สะเทือนเสรีภาพสื่อ

ภาพข่าวที่กลุ่มผู้ชายใส่สูทบุกเข้ารวบตัว “จูเลียน อัสซานจ์” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์จอมแฉวิกิลีกส์ ออกจากสถานทูตเอกวาดอร์ในกรุงลอนดอน นำตัวขึ้นรถตู้ตำรวจ เมื่อวันพฤหัสบดี (11 เม.ย.) จุดประกายให้เกิดประเด็นถกเถียงกันว่าความมั่นคงกับฟรีสปีชอะไรสำคัญกว่ากัน

อัสซานจ์ ลี้ภัยอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์มาตั้งแต่ปี 2555 ตำรวจอังกฤษเผยว่า เดิมทีเขาถูกจับเพราะฝ่าฝืนเงื่อนไขประกันตัวเมื่อ 2555 ต่อมามีหมายจับตามคำร้องของสหรัฐมาเสริม ต้องการให้อังกฤษส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีล้วงข้อมูล

วิบากกรรมของอัสซานจ์ เกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีเลนิน โมเรโน ของเอกวาดอร์ผู้สนับสนุนสหรัฐ ไม่พอใจที่อัสซานจ์หลบอยู่ในสถานทูตจึงเพิกถอนสถานะลี้ภัยและสิทธิพลเรือน หลังจากเคยควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือของเขามาก่อนหน้านี้

ส่วนนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ของอังกฤษ ก็ประกาศในสภา“ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย”หวังให้ ส.ส.สบายใจ

ขณะที่เจนนิเฟอร์ โรบินสัน ทนายอัสซานจ์ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า ลูกความของเธอจะสู้คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน อัสซานจ์ขอให้เธอช่วยส่งสารไปยังผู้สนับสนุน หนึ่งในนั้นคือวิเวียน เวสต์วูดแฟชั่นดีไซเนอร์ ว่า ที่เขาพูดเสมอว่าอาจถูกสหรัฐขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนนั้นพิสูจน์แล้วว่าเขาพูดถูก

ทั่วโลกสงสัยกันมานานแล้วว่า รัฐบาลวอชิงตันน่าจะต้องการตัวอัสซานจ์อยู่เงียบๆ กรณีที่เขาตัดสินใจเผยแพร่เอกสารลับของเพนตากอน เผยรายละเอียดการทำสงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก เคยมีรายงานข่าวว่า สหรัฐทำคำฟ้องต่ออัสซานจ์แล้ว แต่วอชิงตันปฏิเสธมาตลอด จนกระทั่งวันพฤหัสบดี

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐแถลงว่า อัสซานจ์ถูกตั้งข้อหาสมรู้ร่วมคิดล้วงข้อมูลทางคอมพิวเตอร์กับนางสาวเชลซี แมนนิง อดีตนักวิเคราะห์ข่าวกรองสหรัฐ ในเดือน มี.ค.2553หากพบว่ากระทำความผิด อัสซานจ์จะเจอโทษจำคุกถึง 5 ปี

ด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้  โดยบอกว่า “ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับวิกิลีกส์ ไม่ใช่เรื่องของผม”

ตอนนี้เจ้าพ่อวิกิลีกส์จึงกลายเป็นศูนย์กลางข้อพิพาททางกฎหมายและการทูต ระหว่างตัวเขา ผู้สนับสนุนจำนวนมากรวมถึงทางการรัสเซียกับระบบยุติธรรมสหรัฐ

ตลอดเวลาที่กบดานอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ อัสซานจ์ติดต่อกับรัสเซียอย่างต่อเนื่อง วิกิลีกส์เคยเผยแพร่อีเมลที่ล้วงมาจากเซิร์ฟเวอร์ของฮิลลารี คลินตัน และพรรคเดโมแครต ระหว่างที่เธอหาเสียงลงเลือกตั้งประธานาธิบดีแข่งกับทรัมป์เมื่อปี 2559

หน่วยข่าวกรองสหรัฐเชื่อว่า การแฮกข้อมูลครั้งนี้เป็นฝีมือของข่าวกรองทหารรัสเซีย แต่อัสซานจ์ปฏิเสธไม่ทราบว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากไหน

ผู้สนับสนุนเขาต่างหวั่นเกรงว่า หากส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน สหรัฐต้องตั้งข้อหารุนแรงเล่นงานอัสซานจ์ เช่น ข้อหากบฏ ซึ่งในช่วงสงครามมีโทษถึงประหาร

ประธานาธิบดีเอกวาดอร์ยืนกรานว่า เขาขอให้อังกฤษรับรองว่า จะไม่ส่งตัวอัสซานจ์ไปยังประเทศที่เขาอาจถูกซ้อมทรมานหรือเจอโทษประหารชีวิต

กรณีของอัสซานจ์ก่อให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องความมั่นคงกับฟรีสปีช คนที่สนับสนุนเขามองว่า อัสซานจ์คือผู้กล้ายืนหยัดเปิดโปงความอยุติธรรม เช่น การซ้อมทรมาน ก่ออาชญกรรมสงครามที่กองทัพสหรัฐปกปิดไว้

ส่วนคนที่วิจารณ์มองว่า เขาใกล้ชิดกับผู้นำเผด็จการอย่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ทำให้สหรัฐตกอยู่ในความเสี่ยง

สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (เอซีแอลยู) กล่าวว่า การที่สหรัฐดำเนินคดีกับอัสซานจ์จากการเผยแพร่ข้อมูลของวิกิลีกส์ ถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและขัดรัฐธรรมนูญ

เช่นเดียวกับกลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นระบุว่า การจับกุมอัสซานจ์ถือเป็นอันตรายต่อผู้สื่อข่าว ผู้ให้เบาะแส หรือแหล่งข่าวอื่นๆ ที่สหรัฐต้องการดำเนินคดีในอนาคต

แต่คำตอบที่น่าสนใจอยู่ที่อดีตประธานาธิบดีราฟาเอล คอร์เรีย ของเอกวาดอร์ที่อ้างว่าการจับกุมอัสซานจ์เป็นการแก้แค้นส่วนตัวของประธานาธิบดีโมเรโน

 วันที่เขาถูกจับในกรุงลอนดอน รัฐมนตรีมหาดไทยเอกวาดอร์เผยกับนักข่าวว่า ทางการรู้ตัวคนใกล้ชิดอัสซานจ์ที่ทำงานให้กับวิกิลีกส์คนหนึ่งแล้ว พวกเขาสมรู้ร่วมคิดกับแฮกเกอร์รัสเซีย 2 คน บ่อนทำลายเสถียรภาพรัฐบาลโมเรโน และเมื่อเร็วๆ นี้ เอกวาดอร์ยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการต่อผู้แทนพิเศษสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิความเป็นส่วนตัว กล่าวหาว่า วิกิลีกส์เผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวข้องกับประธานาธิบดีโมเรโน