16 พื้นที่กทม.-5จว. ค่าPM2.5เกินมาตรฐาน กระทบสุขภาพ

16 พื้นที่กทม.-5จว. ค่าPM2.5เกินมาตรฐาน กระทบสุขภาพ

เช้านี้กว่า 16 พื้นที่ กทม.-5จังหวัด ค่า PM2.5 เกินมาตรฐานกระทบสุขภาพ

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการประสานข้อมูลคุณภาพอากาศกับกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 เวลา 05.00 น. พบว่า มีจังหวัดที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินค่ามาตรฐาน คือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เกินค่ามาตรฐาน 100 ในกรุงเทพมหานครและ 5 จังหวัด

ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน แขวงบางนา เขตบางนา แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ แขวงดินแดง เขตดินแดง ริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง และริมถนนดินแดง เขตดินแดง) นนทบุรี (ต.บางกรวย อ.บางกรวย) ปทุมธานี (ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง) สมุทรปราการ (ต.ทรงคนอง ต.ตลาด อ.พระประแดง ต.ปากน้ำ อ.เมืองสมุทรปราการ ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง) สมุทรสาคร (ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน และริมถนนคู่ขนานพระราม 2 อ.เมืองสมุทรสาคร) นครปฐม (ต.นครปฐม อ.เมืองนครปฐม) มีค่า PM2.5 ระหว่าง 52 - 111 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ AQI มีค่าระหว่าง 104 – 221 โดยเฉพาะริมถนนคู่ขนานพระราม 2 อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร คุณภาพอากาศอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมีค่า PM2.5 อยู่ที่ 111 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ AQI มีค่า 221

ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสานจังหวัดปริมณฑล 5 จังหวัด ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ รวมถึงได้จัดเจ้าหน้าชุดปฏิบัติการพร้อมด้วยเครื่องจักรกลจากศูนย์ ปภ. เขตในพื้นที่ภาคกลางสนับสนุนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงดำเนินมาตรการควบคุมการเผาอย่างเคร่งครัด อีกทั้งประชาสัมพันธ์ผลกระทบของหมอกควันต่อสุขภาพอนามัย และข้อมูลคุณภาพอากาศ ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนแก่ประชาชน ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนใช้รถโดยสารสาธารณะ งดเว้นการเผาขยะและเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อป้องกันสถานการณ์มิให้รุนแรงมากขึ้น สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองสูงขอให้หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานานใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันมิให้สูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย