จ่อแจ้งข้อหา 'อีโค่ฯ' ขุดน้ำมันนอกเขตสัมปทาน

จ่อแจ้งข้อหา 'อีโค่ฯ' ขุดน้ำมันนอกเขตสัมปทาน

ดีเอสไอชี้ "อีโค่ โอเรียนท์ฯ” บุกรุกถางป่า เพชรบูรณ์ นอกเขตสัมปทานสำรวจ-ผลิตน้ำมัน จ่อเรียกเข้ารับทราบข้อหาเม.ย.นี้. พร้อมขยายผลสอบคดีเลี่ยงภาษี ระบุระหว่างสืบสวนไม่เคยสั่งห้ามขุดเจาะ

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 61 ทีมโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชี้แจงบริษัทอีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ได้เข้าไปใช้พื้นที่ทับซ้อนของกรมป่าไม้ ในพื้นที่บ่อรังเหนือ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ว่า ดีเอสไอเริ่มต้นเข้าไปตรวจสอบกรณีดังกล่าวตามที่มีหนังสือร้องเรียนว่า มีการดำเนินกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่อำเภอวิเชียรบุรี และอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นแปลงสำรวจ SW1 แปลงสำรวจ L44/43 และแปลงสำรวจ L33/43 โดยฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการและมีการหลบเลี่ยงภาษีค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ระหว่างการสืบสวนดีเอสไอไม่ได้ใช้อำนาจสั่งให้มีการหยุดดำเนินการ แต่เป็นการพิจารณาของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ต่อมาผลการสืบสวนมีมูลน่าเชื่อว่าเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง

ทีมโฆษกดีเอสไอ ระบุด้วยว่า ต่อมาจึงมีการเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการคดีพิเศษในการประชุมครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.59 และมีมติรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ ตามพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) โดยเป็นคดีพิเศษที่ 89/2559 และมีเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เป็นผู้กล่าวโทษ ในความผิดฐานก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่าหรือกระทำการด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 ทางการสอบสวนพยานหลักฐานพอแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อมีหนังสือแจ้งให้ผู้กระทำผิดมารับทราบข้อกล่าวหาในเดือนเม.ย.นี้

“ส่วนประเด็นว่ามีการกระทำผิดในเรื่องการหลบเลียงภาษีปิโตรเลียมหรือค่าภาคหลวงปิโตรเลียมหรือไม่นั้น พบว่าในช่วงดำเนินคดีมีปริมาณน้ำมันดิบประมาณ 1,537,051 บาเรล คิดเป็นมูลค่าราคากลางตลาดโลก ณ ช่วงเกิดเหตุ 4,400 กว่าล้านบาท จึงได้แยกสืบสวนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากพบการกระทำผิดก็จะดำเนินคดีต่อไป” ทีมโฆษกดีเอสไอระบุ

สำหรับประเด็นการหารือร่วมกันระหว่างดีเอสไอ กรมป่าไม้ และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันนั้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ส่วนประเด็นที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะพิจารณาขยายระยะเวลาสัมปทานนั้น เห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและกระทรวงพลังงาน แต่หากประสงค์ให้ดีเอสไอสนับสนุนข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาก็ไม่ขัดข้อง